“Thai Silver Jewelry is the Best” ประโยคที่ชาวต่างชาติกล่าวขานถึงเครื่องประดับเงินจากประเทศไทยนี้ ไม่เกินจริง อุตสาหกรรมเครื่องประดับเงินไทยเป็นอุตสาหกรรมส่งออกที่มีชื่อเสียงและเป็นที่ยอมรับนานหลายทศวรรษ การผลิตเครื่องประดับเงินไทยถือเป็นงานหัตถศิลป์ที่แสดงถึงความประณีตศิลป์ในงานช่าง จากการผลิตผ่านกรรมวิธีที่เป็นงานทำมือ ผสมผสานความคิดสร้างสรรค์และทักษะการผลิตเฉพาะถิ่นสืบทอดต่อกันมา ส่งผลให้ประเทศไทยครองความเป็นผู้นำส่งออกเครื่องประดับเงินในตลาดโลกมาอย่างยาวนาน

นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เผยว่า อุตสาหกรรมเครื่องประดับเงินไทยเป็นอัญมณีที่ส่องประกายบนเวทีเศรษฐกิจโลก ด้วยมูลค่าการส่งออกช่วงเดือนมกราคม-มิถุนายน 2567 ที่ 842.41 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 19.51% จากช่วงเดียวกันในปีก่อน โดยตลาดหลักได้แก่ สหรัฐฯ เยอรมนี อังกฤษ และออสเตรเลีย
แม้จะมีคู่แข่งเพิ่มขึ้นจากจีน อิตาลี และตุรกี แต่ไทยยังคงได้เปรียบด้วยช่างฝีมือที่ประณีตและความคิดสร้างสรรค์ในการออกแบบ รวมถึงการควบคุมคุณภาพมาตรฐานที่ดี ทำให้ได้รับความเชื่อมั่นจากผู้บริโภค
ประเทศไทยยังมีสถาบันและสมาคมต่างๆ ที่ช่วยสนับสนุนการพัฒนามาตรฐานและการส่งออก เช่น สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ และสมาคมผู้ส่งออกเครื่องประดับเงินไทย นอกจากนี้ยังมีการจัดงาน Bangkok Gems & Jewelry Fair ซึ่งเป็นงานแสดงสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย โดยครั้งที่ 70 จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 9-13 กันยายน 2567 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
นายสิทธิศักดิ์ ลิ้มวัฒนายิ่งยง นายกสมาคมผู้ส่งออกเครื่องประดับเงินไทย เปิดเผยว่า เครื่องประดับเงินของไทยยังคงได้รับความนิยมสูงในตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกาและยุโรป ด้วยคุณภาพการผลิต การออกแบบที่หลากหลาย และการให้บริการที่ครบวงจร ทำให้ครองส่วนแบ่งการตลาดในประเทศผู้บริโภคขนาดใหญ่ได้อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ตลาดใหม่ที่มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจสูง เช่น อินเดีย ก็เริ่มมีความต้องการเครื่องประดับเงินไทยเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการยอมรับในคุณภาพและความประณีตของสินค้าไทยทั่วโลก
นายสิทธิศักดิ์ ยังกล่าวถึงการพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมเครื่องประดับเงินไทยอย่างต่อเนื่อง ทั้งในด้านการรักษาและพัฒนาบุคลากร รวมถึงการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ มาใช้ในการผลิตและออกแบบ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก โดยยังคงผสมผสานเอกลักษณ์ความเป็นไทยผ่านความประณีต จริยธรรม และการเอาใจใส่ลูกค้าในทุกขั้นตอน
ความสำเร็จของอุตสาหกรรมนี้เกิดจากความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และเครือข่ายต่างๆ ที่ร่วมกันพัฒนาและผลักดันการเติบโตอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งขยายตลาดใหม่และรักษาความเป็นผู้นำในตลาดโลก โดยเน้นการดำเนินธุรกิจที่มีคุณธรรม รักษาธรรมาภิบาล ใส่ใจสิ่งแวดล้อม และรับผิดชอบต่อสังคม เพื่อสร้างความยั่งยืนในอนาคต
ด้วยความมุ่งมั่นและศักยภาพที่แข็งแกร่งของทุกภาคส่วน อุตสาหกรรมเครื่องประดับเงินไทยยังคงมีอนาคตที่สดใส โดยการพัฒนาอย่างต่อเนื่องในด้านคุณภาพ นวัตกรรม และการปรับตัวตามกระแสโลก ซึ่งจะเป็นแรงผลักดันให้อุตสาหกรรมนี้ประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืนบนเวทีโลก