เรื่องของเรื่อง เริ่มต้นจากการที่มีผู้บริโภค ร้องเรียนไปยัง กสทช. ว่า ในทรูไอดี มีโฆษณาแทรกตอนเปลี่ยนช่องโทรทัศน์ดิจิทัล
ทรูไอดี เป็นแอปพลิเคชั่น เว็บไซต์ และกล่องทรูไอดี ทีวี ที่การนำรายการจากฟรีทีวีมาถ่ายทอดผ่านแอปฯ ดังกล่าว แต่มีการนำโฆษณามาแทรก ดำเนินการโดย บริษัททรูดิจิทัล กรุ๊ป
คณะอนุกรรมการ กสทช. มีมติให้ สำนักงาน กสทช. ออกหนังสือแจ้งไปยังผู้ประกอบการที่ได้รับใบอนุญาตจำนวน 127 ราย เพื่อสอบถาม และให้ตรวจสอบการให้บริการของตนให้ทำตามเงื่อนไขใบอนุญาตที่กำหนดให้ช่องรายการของตนจะต้องออกอากาศผ่านผู้รับใบอนุญาตโครงข่ายจาก กสทช.เท่านั้น ซึ่งเป็นไปตามกฎมัสต์ แคร์รี่ (must carry) โดยต้องไม่มีการแทรกเนื้อหาใด ๆ
1 ใน 127 ที่ กสทช.ส่งหนังสือไป คือ บริษัท ไทย นิวส์ เน็ตเวิร์ค (ทีเอ็นเอ็น) จำกัด (TNN) บริษัทในเครือทรู คอร์ปอเรชั่น ที่รับใบอนุญาตดิจิทัลทีวี
ทรูไอดี โดย บริษัท ทรูดิจิทัล กรุ๊ป ไม่ได้รับหนังสือ เพราะไม่ใช่บริษัทที่ได้รับใบอนุญาต หรืออยู๋ในการกำกับดูแลของ กสทช. แต่มองว่า หนังสือเตือนดังกล่าวสร้างความเสียหายแก่บริษัท และอาจกระทบต่อผู้รับใบอนุญาตช่องโทรทัศน์ ทำให้เนื้อหารายการบางส่วนถูกระงับ ซึ่งเอารายการมาเผยแพร่บน ทรู ไอดี
บริษัท ทรูดิจิทัล กรุ๊ป ยังอ้างว่า สำนักงาน กสทช. ยังไม่มีระเบียบเฉพาะในการกำกับดูแลกิจการ OTT (Over-The-Top คือ การให้บริการสตรีมเนื้อหาผ่านโครงข่ายอินเทอร์เน็ต) ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตามกฏ ของ กสทช.
บริษัท ทรูดิจิทัล กรุ๊ป จึงฟ้อง ศาสตราจารย์ กิตติคุณ ดร.พิรงรอง รามสูต กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ด้านกิจการโทรทัศน์ ในฐานะประธานอนุกรรมการชุดนี้ เพราะก่อให้เกิดความเสียหายแก่บริษัท ในข้อหาความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 กรณีออกหนังสือเตือนการโฆษณาแทรกในรายการที่เผยแพร่ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ “ทรูไอดี (TrueID)”
ศ.กิตติคุณ ดร.พิรงรอง กล่าวในแถลงการณ์ “การทำหน้าที่ของดิฉัน และคณะอนุกรรมการฯ ข้างต้น มุ่งหมายหาแนวทางแก้ไขปัญหาของผู้บริโภคตามที่มีข้อร้องเรียน และประสงค์ให้มีการกำกับดูแลผู้รับใบอนุญาตตามกฎหมาย รวมถึงต้องการให้ผู้รับใบอนุญาตช่องรายการตรวจสอบและตระหนักถึงการป้องกันตนเองมิให้ถูกละเมิดลิขสิทธิ์ในเนื้อหารายการ”
ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางได้มีคำพิพาษาสั่งจำคุก ศ.กิตติคุณ ดร.พิรงรอง เป็นเวลา 2 ปี โดยไม่รอลงอาญา เนื่องจากมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 โดยศาลชี้ว่า มีเจตนากลั่นแกล้งโจทก์ ให้ได้รับความเสียหาย เนื่องจากจำเลยมีอำนาจการปฏิบัติหน้าที่ ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ไม่เป็นไปตามกฎหมาย
การออกเอกสารเตือนแบบนี้ ผู้ประกอบการมองว่า สร้างความเสียหายให้ กับบริษัท และ ศาลฯถือว่า กลั่นแกล้ง ผิด ม.157 ละเว้นการปฏิบัติหน้า สั่งจำคุก 2 ปี ไม่รอลงอาญา
ขณะนี้ กสทช. พิรงรองจะได้รับการประกันตัว ในวงเงินประกัน 120,000 บาท กำหนดเงื่อนไข ห้ามเดินทางออกนอกประเทศ
นับว่า เป็นราคาแพงมากที่ต้องจ่ายในการทำหน้าที่ คุ้มครองผู้บริโภค