นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เป็นประธานการประชุมผู้บริหารกระทรวงดีอี (Top Executives) ครั้งที่ 2/2568 ณ ห้องประชุม 801 อาคารสำนักงานใหญ่ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT และผ่านระบบ Video Conference โดยมีคณะผู้บริหารและหัวหน้าหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเข้าร่วม
นายประเสริฐกล่าวว่า กระทรวงดีอีมีภารกิจขับเคลื่อนรัฐบาลดิจิทัลเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการประชาชน โดยเตรียมเชื่อมโยงระบบ e-Office ระหว่างหน่วยงานรัฐให้เป็นระบบไร้กระดาษ (Paperless) ร่วมกับสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) นอกจากนี้ สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (สดช.) หรือ BDE ยังร่วมมือกับ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท.) ขยายโครงการศูนย์ดิจิทัลชุมชน เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงเทคโนโลยีและสร้างรายได้จากพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์
5 ประเด็นสำคัญที่หารือในที่ประชุม
- พัฒนาระบบฐานข้อมูล Big Data กองทุนหมู่บ้าน
- สถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ (BDI) จะสนับสนุนการพัฒนาฐานข้อมูลกองทุนหมู่บ้าน 79,610 แห่งทั่วประเทศ เพื่อบริหารจัดการผ่าน Dashboard และ AI รวมถึงเชื่อมโยงแพลตฟอร์ม Big Data อย่าง City Data Platform (CDP)
- การจัดตั้งศูนย์กลางข้อมูลสถิติด้านดิจิทัลของประเทศไทย (TDDC)
- สำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) จัดทำศูนย์ TDDC เพื่อรวบรวมดัชนีและตัวชี้วัดด้านดิจิทัล โดยเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ “tddc.gdcatalog.go.th” ซึ่งปัจจุบันมีข้อมูล 237 ชุด
- โครงการสำมะโนประชากรและเคหะ พ.ศ. 2568
- สสช. เตรียมเก็บข้อมูลประชากรทั่วประเทศผ่าน Digital Census โดยเปิดให้ตอบแบบสอบถามออนไลน์ผ่านแอปฯ “ทางรัฐ” ระหว่างวันที่ 1-20 เมษายน 2568 และส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ระหว่างวันที่ 21 เมษายน – 19 มิถุนายน 2568
- (ร่าง) พ.ร.บ. ส่งเสริมอุตสาหกรรมเกม
- สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) ผลักดัน พ.ร.บ. ฉบับใหม่ เพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเกมไทยให้เป็น New S-Curve ลดการนำเข้า และเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ โดยแยกออกจาก พ.ร.บ. ภาพยนตร์และวีดิทัศน์
- ความคืบหน้าบัญชีบริการดิจิทัล
- ดีป้า ดำเนินการขึ้นทะเบียนบริการดิจิทัลสำหรับภาครัฐ โดยตรวจสอบมาตรฐานของ Digital Startup และบริการดิจิทัล เช่น Software, Smart Devices และ Digital Content Service ปัจจุบันมีสินค้าและบริการที่ขึ้นทะเบียนแล้ว 615 รายการ จาก 91 บริษัท
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังหารือเรื่องการประกาศใช้ พ.ร.ก. มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาขั้นสุดท้ายของคณะกรรมการกฤษฎีกา โดยมีประเด็นเกี่ยวกับความรับผิดชอบของสถาบันการเงิน ผู้ให้บริการโทรคมนาคม และแพลตฟอร์มดิจิทัล ในการชดใช้ความเสียหายจากอาชญากรรมออนไลน์ ซึ่งกระทรวงดีอีจะประสานงานเพื่อให้การดำเนินการเป็นไปอย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ