รองนายกฯ ประเสริฐ นำทีม 16 พันธมิตร ลงนาม MOU เปิดตัวแพลตฟอร์ม ‘DE-fence’ สกัดแก๊งคอลเซ็นเตอร์ เปิดใช้จริง 1 พ.ค. 68

รองนายกฯ ประเสริฐ นำทีม 16 พันธมิตร ลงนาม MOU เปิดตัวแพลตฟอร์ม ‘DE-fence’ สกัดแก๊งคอลเซ็นเตอร์ เปิดใช้จริง 1 พ.ค. 68
Share

นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ระหว่างกระทรวงดีอี สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรคมนาคม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวม 16 องค์กร เพื่อสนับสนุนโครงการ “DE-fence platform” (แพลตฟอร์มกันลวง) ป้องกันการโทรและส่ง SMS หลอกลวงจาก “แก๊งคอลเซ็นเตอร์” โดยมีกำหนดเปิดใช้งานอย่างเป็นทางการในวันที่ 1 พฤษภาคม 2568

รองนายกฯ ประเสริฐ เปิดเผยว่า จากสถิติการรับแจ้งความคดีออนไลน์ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 ถึง 31 มีนาคม 2568 พบความเสียหายจากอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสูงถึง 5.19 แสนคดี มูลค่ากว่า 5.07 หมื่นล้านบาท โดยเฉพาะการหลอกลวงผ่านการโทรศัพท์และ SMS ที่มิจฉาชีพพัฒนาและปรับเปลี่ยนรูปแบบอย่างรวดเร็ว การผนึกกำลังกับหน่วยงานต่างๆ ในครั้งนี้ เพื่อร่วมกันพัฒนาแพลตฟอร์ม “DE-fence” จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการรับมือกับภัยคุกคามดังกล่าว

โครงการพัฒนาแพลตฟอร์มป้องกันการโทรหลอกลวง “DE-fence platform” เป็นผลจากการหารือร่วมกันระหว่างกระทรวงดีอี กสทช. ตร. สกมช. สมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทยฯ สมาคมธนาคารไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาแพลตฟอร์มที่ใช้ในการแจ้งเตือนประชาชน คัดกรองสายเรียกเข้าและข้อความ SMS ที่เป็นภัย รวมถึงช่วยยืนยันหมายเลขโทรศัพท์จากหน่วยงานสำคัญ เช่น ตำรวจ หรือสถาบันการเงิน ภายใต้ชื่อ “DE-fence platform” (แพลตฟอร์มกันลวง)

“DE-fence platform” เป็นการบูรณาการการทำงานของผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด ทั้งผู้ให้บริการโทรคมนาคม กสทช. ผู้บังคับใช้กฎหมาย และกระทรวงดีอี เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์และการหลอกลวงผ่าน SMS ควบคู่ไปกับมาตรการอื่นๆ เช่น การลงทะเบียนผู้ให้บริการส่ง SMS แนบลิงก์ใหม่ทั้งระบบและการตรวจสอบลิงก์ก่อนส่งถึงผู้ใช้บริการ

รองนายกฯ ประเสริฐ กล่าวเพิ่มเติมว่า “มาตรการ ‘DE-fence platform’ นี้ เป็นหนึ่งในหลายมาตรการที่กำหนดขึ้นเพื่อป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์ โดยเฉพาะแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ร่วมกับการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเชื่อว่าจะช่วยลดความเดือดร้อนของประชาชนได้อย่างมีนัยสำคัญ”

ด้านนายเวทางค์ พ่วงทรัพย์ เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (สดช.) หรือ BDE กล่าวว่า สดช. ได้เร่งพัฒนา DE-fence platform ตามข้อสั่งการของรองนายกฯ ประเสริฐ ให้พร้อมใช้งานภายในกลางปี 2568 โดยมีจุดเด่นคือการเชื่อมต่อฐานข้อมูลระหว่างผู้ประกอบการโทรคมนาคม ตร. ปปง. ศูนย์ AOC 1441 และกระทรวงดีอี เพื่อเตือนประชาชนถึงความเสี่ยงของสายโทรเข้าหรือ SMS ก่อนรับสายหรืออ่านข้อความ รวมถึงสามารถตรวจสอบความผิดปกติของลิงก์ที่แนบมากับ SMS ได้ นอกจากนี้ยังมีระบบแจ้งความออนไลน์และอายัดบัญชีคนร้ายผ่านสายด่วน AOC 1441 พร้อมระบบยืนยันตัวตนเพื่อส่งข้อมูลให้ตำรวจแบบ Real time

หลักการทำงานของ “DE-fence platform” จะแบ่งสายโทรเข้าและ SMS เป็น 3 กลุ่ม ได้แก่

  1. Blacklist (สีดำ): หมายเลขที่ยืนยันแล้วว่าเป็นของคนร้าย ระบบแนะนำให้บล็อกอัตโนมัติ
  2. Greylist (สีเทา): หมายเลขที่น่าสงสัย เช่น โทรจากอินเทอร์เน็ต ต่างประเทศ หรือมีการแจ้งว่าเป็นเบอร์ต้องสงสัย ระบบจะแจ้งเตือนระดับความเสี่ยง
  3. Whitelist (สีขาว): หมายเลขหน่วยงานที่ลงทะเบียนถูกต้องและได้รับการยืนยัน เช่น หมายเลข 3-4 หลักของหน่วยงานรัฐ

ในระยะแรก แพลตฟอร์มจะเน้นการป้องกันเบอร์โทรและ SMS ก่อน โดยเฉพาะ Whitelist ของหน่วยงานรัฐที่มักถูกคนร้ายนำไปใช้ในการหลอกลวง และจะขยายไปยังหน่วยงานและบริษัทอื่นๆ รวมถึงเพิ่มการป้องกันและแจ้งเตือนในระยะต่อไป ขณะนี้ “DE-fence” อยู่ระหว่างการทดสอบความปลอดภัยและรองรับผู้ใช้งานจำนวนมาก คาดการณ์ว่าจะมีผู้ใช้งานประจำกว่า 1 ล้านคน

ประชาชนและผู้สนใจสามารถดาวน์โหลด “DE-fence platform” (เวอร์ชันทดลอง) ได้ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2568 เป็นต้นไป โดยค้นหาคำว่า “DE-fence” ใน Google Play Store และ Apple Store

การ์ทเนอร์เตือนภัย AI Agents จ้องยึดบัญชีเร็วขึ้น 50% ใน 2 ปี แนะองค์กรเร่งเครื่อง MFA ไร้รหัสผ่าน