จากลายเซ็นบนกระดาษ สู่การคลิกเพียงปลายนิ้ว ปรากฏการณ์ “e-Contract” ที่คุณต้องรู้
ในยุคที่โลกหมุนเร็วด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล การทำธุรกรรมออนไลน์กลายเป็นวิถีชีวิตประจำวันของทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังวิกฤตโควิด-19 ที่ผลักดันให้การปรับตัวเข้าสู่โลกดิจิทัลไม่ใช่แค่ทางเลือก แต่เป็นความจำเป็น และหนึ่งในหัวใจสำคัญของการเปลี่ยนผ่านนี้ คือ “สัญญาอิเล็กทรอนิกส์” หรือ e-Contract ที่เข้ามาพลิกโฉมการทำสัญญาจากรูปแบบเดิมสู่ระบบดิจิทัลอย่างสมบูรณ์แบบ
แม้พระราชบัญญัติธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์จะมีผลบังคับใช้มานานกว่า 20 ปี เพื่อวางรากฐานทางกฎหมายให้กับการทำธุรกรรมดิจิทัล แต่เชื่อหรือไม่ว่า หลายองค์กรยังคงลังเลและมีข้อสงสัยเกี่ยวกับ e-Contract ทั้งในเรื่องของความถูกต้องตามกฎหมาย ความปลอดภัย และความน่าเชื่อถือ เพื่อคลายทุกข้อกังวล สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) ในฐานะหน่วยงานหลักที่ส่งเสริมและสร้างความเชื่อมั่นในธุรกรรมออนไลน์ ได้เปิดเวที ETDA Live ไลฟ์กำลังดี EP.3: “ปิดดีลสัญญา จบไว มั่นใจด้วย e-Contract” เพื่อเจาะลึกทุกประเด็น โดยได้รับเกียรติจาก คุณสมประสงค์ โหรชัยยะ ผู้ชำนาญการอาวุโสจากศูนย์พัฒนากฎหมาย ETDA และคุณสิริณัฐ ตั้งธรรมจิต หัวหน้าทีมที่ปรึกษาและวิทยากรจาก ADTE by ETDA มาร่วมไขข้อข้องใจ และตอกย้ำว่า “e-Contract ปลอดภัย เชื่อถือได้ และมีกฎหมายรับรอง”
“e-Contract” ใกล้ตัวกว่าที่คิด: แค่ “แสดงเจตนา-ระบุตัวตน” ก็มีผลทางกฎหมาย
หลายคนอาจคิดว่า “e-Contract” เป็นเรื่องไกลตัว แต่ในความเป็นจริง เราทุกคนล้วนใช้ e-Contract อยู่แทบทุกวัน ไม่ว่าจะเป็นการกดยอมรับเงื่อนไขการใช้งานแอปพลิเคชัน การโต้ตอบอีเมลที่มีการลงชื่อกำกับ หรือการคลิก “ยืนยัน” บนแพลตฟอร์มออนไลน์หลังแนบไฟล์สัญญา สิ่งเหล่านี้ล้วนเข้าข่ายการทำ e-Contract ทั้งสิ้น
หัวใจสำคัญของ e-Contract ที่กฎหมายไทยรับรอง คือ “การแสดงเจตนา” และ “การระบุตัวตน” ของผู้ลงนามได้อย่างชัดเจน เพียงเท่านี้ e-Contract ก็จะมีผลทางกฎหมายเช่นเดียวกับการทำสัญญาบนกระดาษทุกประการ โดยปัจจุบัน e-Contract สามารถใช้ได้เกือบทุกธุรกรรมทั้งภาครัฐและเอกชน ยกเว้นเพียงบางกรณีที่กฎหมายระบุไว้ว่าต้องใช้สัญญาแบบเดิมเท่านั้น เช่น สัญญาเกี่ยวกับครอบครัวและมรดก ซึ่งมีเนื้อหาละเอียดอ่อนและจำเป็นต้องมีพยานร่วมรับรู้
การหันมาใช้ e-Contract ไม่เพียงช่วยลดต้นทุน ประหยัดเวลา ไม่ต้องพิมพ์ ไม่ต้องใช้กระดาษ ไม่ต้องนัดเจอเพื่อเซ็น และไม่ต้องรอรับ-ส่งเอกสาร แต่ยังช่วยลดภาระในการจัดเก็บเอกสาร เพิ่มความแม่นยำในการตรวจสอบ ติดตาม และลดความเสี่ยงจากเอกสารสูญหายหรือถูกปลอมแปลงได้อีกด้วย
ทำไมหลายองค์กรยัง “ไม่กล้า” เปลี่ยนสู่ e-Contract? ไขข้อกังวลที่พบบ่อย
แม้ e-Contract จะไม่ใช่เรื่องใหม่และมีกฎหมายรองรับมานาน พร้อมข้อดีมากมาย แต่หลายองค์กรยังคง “ไม่มั่นใจ” และมีข้อกังวลหลากหลายประการ อาทิ:
- ความไม่มั่นใจในประเด็นทางกฎหมาย: กังวลว่าศาลอาจไม่ยอมรับ e-Contract หากเกิดข้อพิพาท
- ความน่าเชื่อถือของเทคโนโลยี: สงสัยว่าการใช้ Stylus, PIN หรือการลงชื่อท้ายอีเมล จะถือเป็น “ลายมือชื่อ” ตามกฎหมายและสามารถยืนยันตัวตนได้จริงหรือไม่
- ความปลอดภัยของเอกสาร: กังวลว่าหากไม่มีระบบจัดเก็บที่ดี ไฟล์อาจถูกปลอมแปลงหรือแก้ไขโดยไม่รู้ตัว
- การลงทุนที่เพิ่มขึ้น: มองว่าต้องลงทุนทั้งโครงสร้างพื้นฐานและอบรมพนักงาน ซึ่งเป็นภาระมากกว่าโอกาส
- ความยึดติดกับวัฒนธรรมเดิม: คุ้นชินกับการใช้กระดาษและลายเซ็นด้วยปากกา
- ความไม่พร้อมของคู่สัญญา: การเปลี่ยนแปลงต้องได้รับความร่วมมือจากคู่สัญญาด้วย
- แนวทางที่ไม่ตอบโจทย์เฉพาะองค์กร: ต้องการคำแนะนำที่ลงลึกในรายละเอียดและบริบทของตนเอง
ก้าวสู่ e-Contract อย่างมั่นใจ: 3 องค์ประกอบสำคัญที่กฎหมายรับรอง
ผู้เชี่ยวชาญจาก ETDA ยืนยันว่า e-Contract ปลอดภัย เชื่อถือได้ และได้รับการรองรับตามพระราชบัญญัติธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2544 โดยมีองค์ประกอบหลัก 3 ด้านที่ต้องครบถ้วน เพื่อให้การใช้งาน e-Contract เป็นไปอย่างถูกต้องตามกฎหมายและปลอดภัย:
- ตัวเอกสารและเนื้อหาของสัญญา: ข้อมูลทั้งหมดต้องสามารถเข้าถึงได้ (Accessible) มีความชัดเจน ไม่คลุมเครือ สามารถเปิดดูย้อนหลังได้เสมอ และเนื้อหาต้องไม่ถูกแก้ไขเปลี่ยนแปลง
- ลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ (e-Signature) ที่ระบุตัวตนและแสดงเจตนาได้ชัดเจน: e-Signature มี 2 แบบหลัก ได้แก่:
- e-Signature ทั่วไป: ที่สามารถระบุตัวตนได้ เช่น การลงชื่อท้ายอีเมล, การล็อกอินเข้าใช้งานแอปพลิเคชัน/เว็บไซต์, การกดยืนยัน/ยอมรับ, การใช้ PIN/Password, รวมถึงการเซ็นผ่าน Stylus Pen
- Digital Signature: เป็น e-Signature อีกรูปแบบหนึ่งที่มีความปลอดภัยและน่าเชื่อถือมากกว่า เพราะมีการเข้ารหัสและถอดรหัสด้วยระบบ Public/Private Key ทำให้สามารถตรวจสอบได้ว่าใครเป็นคนลงนาม ลงเมื่อไหร่ มีการแก้ไขภายหลังหรือไม่ และพิสูจน์ได้ว่าบุคคลที่ลงนามเป็นคนนี้จริงๆ
- ระบบจัดเก็บที่ปลอดภัย ตรวจสอบได้ และรองรับการพิสูจน์ย้อนหลัง: ควรจัดเก็บในระบบกลางขององค์กร (Central Storage) เพื่อให้เข้าถึงและใช้งานได้ตลอดเวลา พร้อมระบบดูแลความปลอดภัย ควบคุมสิทธิ์การเข้าถึงข้อมูล ป้องกันการเปลี่ยนแปลงแก้ไข และแจ้งเตือนเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลง รวมถึงตรวจสอบย้อนหลังได้
เริ่มต้นใช้ e-Contract อย่างไร?
สำหรับองค์กรที่สนใจอยากเปลี่ยนมาใช้ e-Contract ETDA แนะนำแนวทางเบื้องต้น ดังนี้:
- สร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง: ก่อนติดตั้งระบบหรือโซลูชันใดๆ สิ่งที่องค์กรควรมีเป็นอันดับแรกคือความเข้าใจที่ถูกต้องทั้งในมุมกฎหมาย เทคโนโลยี และวิธีการใช้งาน โดย ETDA ได้จัดทำ Guideline ชื่อว่า “ข้อเสนอแนะแนวทางการจัดทำนิติกรรมหรือสัญญาในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ ตามกฎหมายว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์” เพื่อเป็นแนวปฏิบัติ
- เลือกโซลูชันที่ตอบโจทย์: การใช้ e-Contract ไม่จำเป็นต้องลงทุนสูง สามารถเลือกโซลูชันที่เหมาะกับขนาดและบริบทของแต่ละองค์กรได้ โดยไม่มีกฎเกณฑ์ตายตัว ขึ้นอยู่กับประเภทธุรกิจ คู่สัญญา ความเสี่ยง และความซับซ้อนของสัญญา
- ใช้แนวทางแบบผสม (Hybrid) ได้: หากคู่สัญญาฝ่ายใดยังไม่พร้อมใช้ e-Contract 100% ก็สามารถใช้แนวทางแบบผสมได้ เช่น ฝ่ายหนึ่งลงลายมือชื่อบนกระดาษแล้วสแกนหรือแปลงเป็นไฟล์ดิจิทัล และส่งให้อีกฝ่ายลงนามด้วย Digital Signature ซึ่งสามารถทำได้ตามกฎหมาย หากกระบวนการจัดเก็บและพิสูจน์ตัวตนถูกต้อง และต้องมั่นใจว่าระบบหรือวิธีการที่ใช้สามารถระบุตัวตน แสดงเจตนา และมีการจัดเก็บที่ปลอดภัยสอดคล้องตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด
อนาคตที่สดใส: e-Contract สู่มาตรฐานสากล
นอกจาก พ.ร.บ. ธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ที่รับรองการใช้ e-Contract แล้ว อีกหนึ่งความก้าวหน้าที่ช่วยเสริมความมั่นใจยิ่งขึ้นคือ การที่ประเทศไทยได้เข้าร่วม “อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการใช้การติดต่อสื่อสารอิเล็กทรอนิกส์ในสัญญาระหว่างประเทศ” หรืออนุสัญญา ECC ซึ่งถือเป็นมาตรฐานสากลที่หลายประเทศใช้เป็นกรอบร่วมกันในการรับรองธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ระหว่างประเทศ โดยจะเริ่มมีผลบังคับใช้ในประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2568 เป็นต้นไป นั่นหมายความว่าในอนาคตอันใกล้ e-Contract จะไม่เพียงแค่มีกฎหมายรองรับในประเทศไทย แต่ยังได้รับการยอมรับในระดับสากลอีกด้วย
ผู้เชี่ยวชาญ ETDA ย้ำว่า การใช้ e-Contract ไม่ใช่การ “บังคับให้เปลี่ยน” แต่คือ การ “ชี้ให้เห็นโอกาส” และ “เสนอทางเลือก” ที่ช่วยประหยัดเวลา ทรัพยากร และเพิ่มประสิทธิภาพได้อย่างแท้จริง หากองค์กรหรือหน่วยงานใดพร้อมและต้องการเริ่มต้นใช้งาน แต่ยังมีข้อสงสัย ETDA พร้อมให้คำปรึกษาแบบเจาะลึกในทุกขั้นตอน เพื่อช่วยให้ทุกองค์กรเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลได้อย่างมั่นใจและ “ชีวิตดีเมื่อมีดิจิทัล” ไปด้วยกัน