Pride ที่แท้จริง ธรรมศาสตร์ชวนเร่งเครื่อง ‘กฎหมาย-สถาปัตย์-นโยบาย’ สู่เมืองที่ปลอดภัยและเท่าเทียมสำหรับทุกคน

Pride ที่แท้จริง ธรรมศาสตร์ชวนเร่งเครื่อง 'กฎหมาย-สถาปัตย์-นโยบาย' สู่เมืองที่ปลอดภัยและเท่าเทียมสำหรับทุกคน
Share

ตลอดเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ภาพของขบวนพาเหรด Pride ในหลายเมืองทั่วโลกได้สร้างความตื่นตาตื่นใจและเป็นสัญลักษณ์ของการเฉลิมฉลองความหลากหลายทางเพศ แต่เมื่อสิ้นสุดเดือนแห่ง Pride มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ชวนสังคมตั้งคำถามที่ลึกซึ้งกว่านั้น: “Pride ที่ยิ่งใหญ่ไม่ได้วัดจากขบวนพาเหรด” เพราะการเป็น “เมืองแห่งความหลากหลาย” ที่แท้จริง ควรหมายถึงการที่เมืองนั้นปลอดภัยและเป็นธรรมสำหรับทุกเพศสภาพในชีวิตประจำวัน ไม่ใช่เพียงการจัดงานเฉลิมฉลองชั่วคราวเท่านั้น

ความหมายของ ‘Pride’ ที่แท้จริง กฎหมาย สถาปัตยกรรม และนโยบายที่ต้องยกเครื่อง

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดย รศ. ดร.อานนท์ มาเม้า อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ และ ผศ. วราลักษณ์ คงอ้วน อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง ได้ร่วมกันเปิดมุมมองให้เห็นว่า ความหมายของ Pride ไม่ควรถูกลดทอนเหลือเพียงงานเฉลิมฉลอง แต่ควรกลายเป็น นโยบายที่ปกป้องชีวิตจริงของคนทุกเพศสภาพในทุกมิติ

ทั้งนี้ แม้จะมีความพยายามผลักดันกฎหมายเพื่อความเท่าเทียม แต่กลุ่ม LGBTQ+ ทั่วโลกยังคงเผชิญความเสี่ยงสูงต่อการถูกละเมิดและทำร้าย เช่น ข้อมูลจาก Human Rights Campaign (HRC) ระบุว่าในปี 2024 มีผู้เสียชีวิตจากอาชญากรรมที่มีแรงจูงใจจากความเกลียดชังต่อ LGBTQ+ ในสหรัฐอเมริกามากถึง 33 ราย ขณะที่ในฟิลิปปินส์ LGBTQ+ กว่า 50% เคยถูกคุกคามทางเพศหรือใช้ความรุนแรงในที่สาธารณะ สำหรับประเทศไทย การสำรวจของ UNDP ในปี 2023 พบว่า 40% ของ LGBTQ+ ไทยยังรู้สึกไม่ปลอดภัยเมื่อเปิดเผยตัวตนในพื้นที่สาธารณะ

กฎหมายต้องปกป้องทุกชีวิตได้อย่างแท้จริง

รศ. ดร.อานนท์ มาเม้า ย้ำว่า “กฎหมาย” ควรเป็นมากกว่าตัวอักษรในกระดาษ แต่ต้องเป็นเครื่องมือที่ยืนอยู่ข้างประชาชนทุกกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มคนที่มักถูกผลักออกจากระบบอย่างเงียบ ๆ เช่น ชุมชน LGBTQ+ แม้รัฐธรรมนูญไทยจะรับรอง “ความเสมอภาค” ไว้ชัดเจน แต่ในทางปฏิบัติกลับมีกฎหมายที่ลงลึกและปกป้องสิทธิของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศเหล่านี้อย่างแท้จริงเพียงไม่กี่ฉบับ

กรณีตัวอย่างที่เห็นชัดคือ การเปลี่ยนคำนำหน้าชื่อ ซึ่งเกี่ยวข้องกับสิทธิในการกำหนดอัตลักษณ์ตนเอง แม้จะมีความพยายามผลักดันร่างพระราชบัญญัติรับรองเพศสภาพมาหลายปี แต่ยังไม่มีความคืบหน้าในรัฐสภา ซึ่งต่างจากหลายประเทศ เช่น เบลเยียม ที่ยอมรับการเปลี่ยนแปลงทางเพศด้วยหลักคิดเรื่องสิทธิพื้นฐานและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

รศ. ดร.อานนท์ ชี้ว่า ปัญหาเหล่านี้เกิดจากการที่รัฐไทยยังรับฟังไม่ทันท่วงทีพอ ข้อเสนอเกี่ยวกับสิทธิพลเมืองของ LGBTQ+ ล้วนเกิดจากแรงผลักดันของภาคประชาชน ไม่ใช่จากความริเริ่มของรัฐ และมักถูกตั้งคำถามที่อิงกับ “ศีลธรรมอันดี” หรือ “ค่านิยมไทย” ทั้งที่หลักการพื้นฐานในรัฐธรรมนูญเองก็ระบุชัดว่าการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมย่อมขัดต่อหลักความเสมอภาคและศักดิ์ศรีของมนุษย์

แม้จะมี พ.ร.บ.ความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 ที่ใช้มาแล้วกว่า 10 ปี และเคยรับรองสิทธิของบุคลากรข้ามเพศในการแสดงออกตามอัตลักษณ์ แต่ในทางปฏิบัติก็ยังมีปัญหามากมาย การปฏิรูปกฎหมายไทยให้ทันกับยุคสมัยจึงต้องไม่หยุดแค่การบัญญัติกฎหมายใหม่ แต่ต้องรวมถึงการทบทวนกระบวนการบังคับใช้และกลไกการรับฟังเสียงของประชาชนอย่างจริงจัง

Smart City ต้องมาจาก Inclusive City “เมืองที่ฉลาดคือเมืองที่มองเห็นทุกคน”

ผศ. วราลักษณ์ คงอ้วน ระบุว่า การออกแบบเมืองที่ดีไม่ได้มีเป้าหมายเพียงเพื่อความสวยงามหรือประสิทธิภาพในการใช้งาน แต่ต้องพิจารณา ความหลากหลายของผู้คนเป็นหัวใจสำคัญ องค์ประกอบพื้นฐานของเมือง เช่น โครงสร้างพื้นฐาน ระบบคมนาคม พื้นที่สาธารณะ หรือสภาพแวดล้อม ต้องตอบโจทย์ผู้ใช้งานในทุกมิติ ทั้งด้านเพศสภาพ วัย ความสามารถทางร่างกาย และฐานะทางเศรษฐกิจ เพื่อให้เมืองเป็นสถานที่ที่ “ใครก็อยู่ได้อย่างมีศักดิ์ศรี”

แนวคิดนี้สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG) ข้อที่ 11 ซึ่งระบุว่าเมืองจะดำรงอยู่ได้ ต้องมีที่อยู่อาศัยที่เหมาะสม ระบบขนส่งที่เป็นธรรม การจัดการภัยพิบัติที่ครอบคลุม รวมถึงสิ่งแวดล้อมที่ดีต่อสุขภาพ พื้นที่ที่เอื้อต่อการใช้ชีวิตร่วมกันของคนต่างกลุ่ม และการวางผังเมืองที่ไม่สร้างกำแพงหรือความเหลื่อมล้ำในเชิงพื้นที่

การออกแบบเมืองที่ดีเริ่มต้นจากการวางผังเมืองที่คำนึงถึงความหลากหลาย ไม่ใช่แค่การจัดการพื้นที่ให้เหมาะกับการใช้ประโยชน์ แต่ต้องเปิดโอกาสให้ทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงทรัพยากรของเมืองได้อย่างเท่าเทียม ตัวอย่างเช่น ห้องน้ำทุกเพศ หรือห้องสมุดชุมชน ที่ต้องออกแบบอย่างละเอียดอ่อน โดยคำนึงถึงจำนวน ความปลอดภัย และความสะอาด เพื่อไม่ให้ผู้ใช้งานรู้สึก “ถูกแยก” หรือ “ถูกตีตรา”

ผศ. วราลักษณ์ เน้นย้ำว่า Smart City ที่แท้จริง ไม่ควรถูกจำกัดอยู่เพียงการใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของเมืองในเชิงโครงสร้าง แต่ควรเป็นแนวคิดที่วางเทคโนโลยีไว้บนฐานของ “มนุษย์” และ “ความเท่าเทียม” เป็นหลัก เมืองที่ชาญฉลาดจริงจึงต้องใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือในการลดความเหลื่อมล้ำ เข้าถึงผู้คนในทุกมิติ

ก้าวต่อไปของ Pride ที่ยั่งยืน

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ยืนยันเจตนารมณ์ที่จะเป็นพลังร่วมผลักดันสังคมไทยให้ก้าวสู่ความเป็นธรรมอย่างแท้จริง ทั้งในมิติของกฎหมายและการออกแบบเมือง โดยเชื่อมั่นว่า “ความหลากหลาย” ไม่ใช่เพียงคำขวัญ แต่ต้องแปรเปลี่ยนเป็นหลักการที่ปฏิบัติได้จริง ตั้งแต่การร่างกฎหมายที่คุ้มครองสิทธิมนุษยชน ไปจนถึงการสร้างสภาพแวดล้อมเมืองที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง มหาวิทยาลัยพร้อมที่จะทำหน้าที่เป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้ เสียงสะท้อน และแรงขับเคลื่อน เพื่อให้ประเทศไทยเป็นเมืองที่คนทุกกลุ่มสามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีศักดิ์ศรี ปลอดภัย และเท่าเทียม ไม่ใช่เพียงในนาม แต่ในทุกย่างก้าวของชีวิตจริง

อดีตเด็กติดเกมสู่ตำรวจไซเบอร์ สารวัตรเติร์กแนะ “รู้เท่าทัน” เกราะป้องกันภัยไซเบอร์ในยุคดิจิทัล