3 มุมคิดจุดตั้งต้นสร้างนวัตกรรมสู่ Crime Tech ในงาน True CyberSafe x TrueMoney Hackathon Thailand 2025

3 มุมคิดจุดตั้งต้นสร้างนวัตกรรมสู่ Crime Tech ในงาน True CyberSafe x TrueMoney Hackathon Thailand 2025
Share

ในยุคที่เทคโนโลยีก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว อาชญากรรมไซเบอร์ก็ทวีความซับซ้อนขึ้นตามไปด้วย ทำให้ตลาด Crime Tech หรือเทคโนโลยีที่ช่วยป้องกัน ตรวจจับ และรับมือกับอาชญากรรม กำลังขยายตัวทั่วโลก แม้ประเทศไทยจะมีความต้องการสูง แต่สตาร์ทอัพในสายงานนี้กลับมีไม่ถึง 10 ราย อย่างไรก็ตาม Gartner บริษัทวิจัยและที่ปรึกษาชั้นนำด้านไอที คาดการณ์ว่าในปี 2568 มูลค่าการลงทุนของบริษัทไทยด้านความปลอดภัยไซเบอร์สำหรับผู้ใช้งานทั่วไปจะสูงถึง 18,400 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12.3% จากปีก่อน นี่จึงเป็นโอกาสทองสำหรับนักพัฒนาและสตาร์ทอัพไทยที่จะพลิกโจทย์ท้าทายนี้ให้เป็นนวัตกรรม

เวที True CyberSafe x TrueMoney Hackathon Thailand 2025 เปิดโอกาสให้นิสิต นักศึกษา สตาร์ทอัพ และประชาชนทั่วไป ได้มาร่วมกัน “แฮ็ค” เพื่ออนาคตที่ปลอดภัยยิ่งขึ้น และต่อยอดสู่การสร้างนวัตกรรม Crime Tech ที่ใช้งานได้จริง เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างสรรค์นวัตกรรม จึงมีการนำเสนอข้อมูลเชิงลึกและข้อแนะนำจาก 3 วิทยากรในงานเปิดตัวโครงการ ดังนี้

1. Cybersecurity ที่แข็งแกร่ง ต้องมีทั้งนโยบาย เทคโนโลยี และคน

พ.ต.ปวิช บูรพาชลทิศน์ จากสำนักงานคณะกรรมการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) เน้นย้ำว่า “Cybersecurity ไม่ใช่เรื่องของรัฐหรือองค์กรเท่านั้น แต่คือระบบนิเวศที่ทุกคนเกี่ยวข้อง” สกมช. เป็นฟันเฟืองหลักในการกำกับดูแลและยกระดับความพร้อมของประเทศตาม พ.ร.บ. ไซเบอร์ปี 2562 ซึ่งทำให้ประเทศไทยอยู่ในอันดับ 7 ของโลกด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ตามดัชนี Global Cybersecurity Index (GCI) ของ ITU

อย่างไรก็ตาม ภัยไซเบอร์ก็พัฒนาไปอย่างรวดเร็วเช่นกัน โดยเฉพาะ Deepfake AI ที่สามารถสร้างภาพ เสียง และวิดีโอปลอมได้อย่างแนบเนียน จนสร้างความเสียหายได้ตั้งแต่ระดับบุคคลไปจนถึงความมั่นคงของประเทศ พ.ต.ปวิชจึงเสนอว่า ทิศทางการสร้างนวัตกรรมในวันนี้ต้องคิด “กลับด้าน” โดยมุ่งเน้นการสร้างสิ่งที่จะสามารถตรวจจับสิ่งที่ถูกปลอมแปลงขึ้นมาได้

2. ภัยไซเบอร์ที่เริ่มจากความเชื่อของเราเอง

พ.ต.อ.เกรียงไกร พุทไธสง ผู้กำกับกลุ่มงานสนับสนุนทางไซเบอร์ กองบังคับการตรวจสอบและวิเคราะห์อาชญากรรมทางเทคโนโลยี กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี เผยว่า “ในสนามจริง คนร้ายไม่ได้โจมตีที่เทคโนโลยี แต่มาที่สมองของเรา” อาชญากรไซเบอร์มักใช้หลักจิตวิทยาเพื่อหลอกลวงเหยื่อ โดยอาศัย Confirmation Bias (อคติที่หาหลักฐานมายืนยันความเชื่อของตัวเอง) และ Social Proof (ความเชื่อใจจากคนที่ดูน่าเชื่อถือ) นอกจากนี้ คนร้ายยังพยายามตัดการสื่อสารของเหยื่อไม่ให้พูดคุยกับผู้อื่นในช่วงตัดสินใจ เพราะคนภายนอกมักจะมองเห็นว่าเป็นมิจฉาชีพได้ทันที

พ.ต.อ.เกรียงไกรตั้งคำถามว่า “จะมีเทคโนโลยีอะไรที่สามารถเตือนเหยื่อได้ ‘ขณะกำลังตัดสินใจ’ ไม่ใช่หลังจากตกเป็นเหยื่อแล้ว” รวมถึงการสร้างเทคโนโลยีที่จะสามารถระบุกลุ่มคนที่มีความเสี่ยงได้อย่างเฉพาะเจาะจง และที่สำคัญคือต้องเข้าใจวิถีชีวิตของผู้คนอย่างลึกซึ้ง เพื่อออกแบบนวัตกรรมให้เป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของพวกเขาได้ “เพราะเราจะออกแบบนวัตกรรมดีๆ ไม่ได้เลย ถ้าเราไม่รู้ว่าคนขับวินมอเตอร์ไซค์ดูมือถืออย่างไร แม่ค้าออนไลน์กดส่งของอย่างไร หรือผู้สูงวัยใช้โทรศัพท์แบบไหน” พ.ต.อ.เกรียงไกรกล่าวทิ้งท้าย

3. เข้าใจมนุษย์ ก่อนออกแบบเทคโนโลยี

ผศ.ดร. ภัทรวรรณ ประสานพานิช อาจารย์สาขาวิชาการปฏิบัติการและเทคโนโลยี สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ฯ ชี้ให้เห็นถึงหัวใจสำคัญของการออกแบบโซลูชันด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ว่า “Cybersecurity ที่ดีไม่ใช่แค่เรื่องของความฉลาด แต่ต้องเข้าใจมนุษย์” สิ่งที่ทำให้ผู้คนตกเป็นเหยื่อคือสถานการณ์ที่ทำให้พวกเขาตัดสินใจโดยใช้อารมณ์มากกว่าเหตุผล โดยเด็ก วัยรุ่น และผู้สูงอายุ ต่างมีจุดเปราะบางที่แตกต่างกันไป เช่น ผู้สูงอายุอาจหลงเชื่อข้อความที่เร่งให้รีบคลิกเพราะกลัวบัญชีจะถูกล็อก ในขณะที่เด็กและวัยรุ่นอาจแชร์รหัสหรือข้อมูลเพื่อต้องการการยอมรับในโลกออนไลน์

หนึ่งในวิธีที่สามารถออกแบบระบบให้ “สะกิด” ผู้ใช้ให้คิดก่อนคลิก คือการใช้หลัก Digital Nudging โดยเฉพาะการเลือกวางกรอบข้อความสื่อสาร (Framing message) ให้นำไปสู่พฤติกรรมที่ปลอดภัย เช่น เปลี่ยนจาก “คุณแน่ใจหรือไม่ว่าจะดาวน์โหลดซอฟต์แวร์นี้” เป็น “ถ้าคุณดาวน์โหลด อุปกรณ์ของคุณอาจติดมัลแวร์ได้” ซึ่งช่วยให้ผู้ใช้รับรู้ผลกระทบและหยุดคิดก่อนคลิก แม้จะเป็นการเปลี่ยนเพียงไม่กี่คำ แต่กรอบการสื่อสารมีอิทธิพลอย่างมากต่อการตัดสินใจของมนุษย์ เทคนิคที่ใช้ได้ผล ได้แก่ การใช้ตัวเลขจำนวนมากเพื่อให้รู้สึกว่าสถานการณ์รุนแรง, การพูดถึงตัวผู้ใช้โดยตรงแทนที่จะพูดถึงคนทั่วไปเพื่อให้รู้สึกเชื่อมโยง, และการเน้นผลเสียที่จะเกิดขึ้นมากกว่าผลดีที่จะได้รับ เพราะคนส่วนใหญ่มักตอบสนองต่อสิ่งที่ “กลัวจะเสีย” มากกว่า

สรุปได้ว่า นวัตกรรมหรือโซลูชันที่ดีจึงไม่ใช่แค่ฉลาด แต่ต้องทำให้คนหมู่มากหรือคนธรรมดาทั่วไปสามารถปกป้องตัวเองได้ แม้ในวันที่ยังไม่รู้ว่ากำลังตกอยู่ในอันตราย

มุมมองจากทั้งสามวิทยากรสะท้อนให้เห็นว่า การรับมือกับภัยไซเบอร์ในปัจจุบัน ไม่ใช่แค่เรื่องของเทคโนโลยีล้ำสมัยเท่านั้น แต่คือการ เข้าใจมนุษย์ พฤติกรรม และความเปราะบางในชีวิตประจำวันของผู้คน สิ่งนี้จะเป็นจุดตั้งต้นสำคัญในการสร้างสรรค์นวัตกรรม Crime Tech ที่มีประสิทธิภาพและตอบโจทย์ได้อย่างแท้จริง

ปลดล็อกศักยภาพแรงงานไทย วปอ.บอ. ผนึกกำลังภาครัฐ-เอกชน เปิดตัว ‘Future Ready by Future Leader’ ปั้นเด็กจบใหม่ พร้อมทำงาน ปี 68