AIS ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ยืนยันความพร้อมของระบบแจ้งเตือนภัยฉุกเฉินผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ “Cell Broadcast” (CBS) ที่สามารถรองรับการใช้งานได้ทั้งบนสมาร์ทโฟนระบบ Android และ iOS ภายหลังจากการทดสอบร่วมกันที่สำนักงาน กสทช. เมื่อวันศุกร์ที่ 18 เมษายน 2568 ที่ผ่านมา ซึ่งมี นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการเลขาธิการ กสทช., นายวรุณเทพ วัชราภรณ์ หัวหน้าฝ่ายงานธุรกิจสัมพันธ์ เอไอเอส และนายวสิษฐ์ วัฒนศัพท์ หัวหน้าหน่วยธุรกิจงานปฏิบัติการและสนับสนุนด้านเทคนิคทั่วประเทศ เอไอเอส เข้าร่วม
ผลการทดสอบยืนยันว่าระบบ CBS สามารถส่งข้อความแจ้งเตือนไปยังโทรศัพท์มือถือทั้งสองระบบปฏิบัติการได้เป็นผลสำเร็จ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลังจากที่ Apple ได้เปิดให้อัปเดตระบบ Cell Broadcast บน iPhone ที่ใช้ระบบปฏิบัติการ iOS 18 ในประเทศไทยแล้ว AIS จึงขอแนะนำให้ประชาชนที่ใช้โทรศัพท์มือถือ iPhone เร่งดำเนินการอัปเดตเป็น iOS 18 โดยเร็วที่สุด เพื่อให้สามารถรับการแจ้งเตือนภัยฉุกเฉินที่ส่งผ่านระบบ CBS ได้ทันท่วงที
ความร่วมมือและการทดสอบในครั้งนี้ ถือเป็นอีกก้าวสำคัญในการยกระดับความพร้อมของระบบเตือนภัยฉุกเฉินของประเทศ เพื่อให้ประชาชนสามารถรับรู้ข้อมูลสำคัญในสถานการณ์วิกฤตได้อย่างรวดเร็วและทันเวลา
ทั้งนี้ ในระหว่างที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กำลังพัฒนาระบบ Cell Broadcast Entity (CBE) หรือศูนย์สั่งการของภาครัฐอยู่นั้น ปภ. ได้ขอความร่วมมือมายังผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (โอเปอเรเตอร์) ให้ช่วยดำเนินการส่งข้อความแจ้งเตือนภัยผ่าน 2 ระบบคู่ขนาน ดังนี้
-
ระบบ CBS (Cell Broadcast Service) โดยโอเปอเรเตอร์:
- ใช้งานได้บนมือถือ Android เวอร์ชัน 12 ขึ้นไป
- ใช้งานได้บนมือถือ iPhone iOS 18
หมายเหตุ: โทรศัพท์มือถือที่ไม่สามารถรับระบบ CBS ได้แก่ มือถือระบบ 2G และ 3G รวมถึง iPhone X (รุ่น 10) และรุ่นที่เก่ากว่า ที่ไม่สามารถอัปเดตเป็น iOS 18 ได้
-
ระบบ SMS:
- ยังคงมีความจำเป็นในการส่งข้อความ SMS เพื่อครอบคลุมผู้ใช้งานที่ไม่สามารถรับระบบ CBS ได้ ซึ่งรวมถึงผู้ที่ใช้มือถือระบบ 2G, 3G และ iPhone X (รุ่น 10) ลงมา
โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) จะเป็นผู้กำหนดเนื้อหาการส่งข้อความแจ้งเตือน พร้อมทั้งระบุพื้นที่ (โลเคชั่น) และจังหวัดที่จะส่งข้อความมายังโอเปอเรเตอร์ โดยจะใช้ชื่อผู้ส่ง (SMS Sender Name) เป็น DDPM ซึ่งย่อมาจาก กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และ TMD ซึ่งย่อมาจาก กรมอุตุนิยมวิทยา