BLCP ผนึกญี่ปุ่นและ ปตท. เดินหน้าแอมโมเนียคาร์บอนต่ำ เฟืองขับเคลื่อนพลังงานสะอาดแห่งแรกในอาเซียน

BLCP ผนึกญี่ปุ่นและ ปตท. เดินหน้าแอมโมเนียคาร์บอนต่ำ เฟืองขับเคลื่อนพลังงานสะอาดแห่งแรกในอาเซียน
Share

โรงไฟฟ้า BLCP ตอกย้ำพันธกิจหลักในการพัฒนานวัตกรรมการผลิตไฟฟ้าเพื่อความมั่นคงทางพลังงานและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ล่าสุดประกาศความสำเร็จในการศึกษาการใช้แอมโมเนียคาร์บอนต่ำเป็นเชื้อเพลิงร่วมกับถ่านหินในการผลิตไฟฟ้า ถือเป็นโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งแรกในอาเซียนและเป็นลำดับที่ 3 ของเอเชียที่เดินหน้าโครงการนี้อย่างเป็นรูปธรรม พร้อมจับมือกับ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) ในการจัดหาแอมโมเนียคาร์บอนต่ำ 5 แสน – 1 ล้านตันต่อปี เพื่อลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์อย่างยั่งยืน

นายยุทธนา เจริญวงศ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท บีแอลซีพี เพาเวอร์ จำกัด เปิดเผยว่า โรงไฟฟ้า BLCP ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาดใหญ่ (IPP) กำลังการผลิตรวม 1,434 เมกะวัตต์ ได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงเศรษฐกิจ การค้าและอุตสาหกรรม ประเทศญี่ปุ่น (METI) ในการศึกษาและวิจัยโครงการนำแอมโมเนียคาร์บอนต่ำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงร่วม โดยได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2566 ร่วมกับพันธมิตรระดับโลก อาทิ JERA, Mitsubishi Corporation, Mitsubishi Heavy Industries, Banpu และ EGCO

“การนำแอมโมเนียคาร์บอนต่ำ โดยเฉพาะ Blue Ammonia ที่ผ่านกระบวนการดักจับและกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ มาใช้เป็นเชื้อเพลิงร่วมในการผลิตไฟฟ้า จะช่วยให้การผลิตไฟฟ้าสะอาดขึ้น และลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ได้อย่างมีนัยสำคัญ” นายยุทธนา กล่าวเสริม “จากการศึกษาเบื้องต้น โรงไฟฟ้า BLCP คาดว่าจะใช้แอมโมเนียคาร์บอนต่ำร่วมผลิตไฟฟ้าได้ในปริมาณ 5 แสน – 1 ล้านตันต่อปี ซึ่งจะช่วยลดการใช้ถ่านหินลงได้ประมาณ 5-20%”

โครงการนี้ไม่เพียงเป็นก้าวสำคัญของ BLCP ในการมุ่งสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ของประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังเป็นการยืนยันถึงบทบาทของพลังงานถ่านหินในการสร้างเสถียรภาพระบบไฟฟ้าและรักษาต้นทุนการผลิตที่เหมาะสม ก่อนการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานทางเลือกที่มีต้นทุนสูงกว่าในปัจจุบัน โดยต้นทุนการผลิตไฟฟ้าของ BLCP เฉลี่ยไม่ถึง 2 บาทต่อหน่วย ซึ่งช่วยรักษาค่าไฟฟ้าไม่ให้สูงจนเกินไป อันเป็นประโยชน์ต่อประชาชนและภาคธุรกิจ

นอกจากการวิจัยและพัฒนาการใช้แอมโมเนียคาร์บอนต่ำแล้ว BLCP ยังคงมุ่งมั่นพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีอื่นๆ อย่างต่อเนื่อง อาทิ โครงการนำคาร์บอนไดออกไซด์กลับมาใช้ และโครงการใช้จุลสาหร่ายในการดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งดำเนินการร่วมกับ Algal Bio ผู้เชี่ยวชาญด้านจุลสาหร่ายระดับโลกจากญี่ปุ่น ภายใต้การสนับสนุนจาก METI เช่นกัน

ความร่วมมือครั้งนี้กับ ปตท. ในการจัดหาแอมโมเนียคาร์บอนต่ำ ตอกย้ำถึงความมุ่งมั่นของทั้งสององค์กรในการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ความยั่งยืนในระดับสากล และเสริมสร้างความมั่นคงทางพลังงาน ควบคู่กับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างสมดุล

กรุงศรี ตอกย้ำผู้นำธุรกิจญี่ปุ่นในไทย ขับเคลื่อนเศรษฐกิจใหม่ สานสัมพันธ์เชื่อมอาเซียนสู่ความยั่งยืน