ฟอร์ติเน็ตร่วมมือ CIPAT และกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เปิดหลักสูตรไซเบอร์ซีเคียวริตี้ เตรียมบุคลากรสู่ยุคดิจิทัล ตอบโจทย์ภาคธุรกิจ

Share

ฟอร์ติเน็ต ประเทศไทย ร่วมมือกับสมาคมส่งเสริมนวัตกรรมเทคโนโลยีไซเบอร์ (Cyber Innovation Promotion Association of Thailand หรือ CIPAT) และสถาบันพัฒนาบุคลากรดิจิทัล กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน เปิดตัวโครงการฝึกอบรมด้านไซเบอร์ซีเคียวริตี้ เพื่อตอบสนองความต้องการเร่งด่วนในการพัฒนาบุคลากรที่มีทักษะด้านความปลอดภัยไซเบอร์ในประเทศไทย การร่วมมือครั้งนี้เป็นการตอบสนองต่อความท้าทายที่เกิดจากการขาดแคลนผู้เชี่ยวชาญที่มีทักษะเฉพาะด้านในการป้องกันและจัดการภัยคุกคามทางไซเบอร์ ซึ่งเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบอย่างมากต่อองค์กรธุรกิจในยุคที่ภัยคุกคามทางไซเบอร์มีความซับซ้อนและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

นางสาวภัคธภา ฉัตรโกเมศ ผู้จัดการประจำประเทศไทยของฟอร์ติเน็ต ได้กล่าวถึงความสำคัญของการฝึกอบรมนี้ว่า “ฟอร์ติเน็ตได้ทำงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและสถาบันการศึกษามาอย่างต่อเนื่อง เพื่อยกระดับทักษะความรู้ของบุคคลทั่วไปที่มีพื้นฐานทางด้านคอมพิวเตอร์ ให้สามารถเข้าใจและปฏิบัติได้จริงในเรื่องการรักษาความปลอดภัยบนไซเบอร์ โครงการฝึกอบรมนี้เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามในการลดช่องว่างทักษะด้านไซเบอร์ซีเคียวริตี้ ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญที่องค์กรต่าง ๆ กำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบัน”

การฝึกอบรมในโครงการนี้ประกอบด้วย 2 หลักสูตรหลัก ได้แก่ หลักสูตรการบริหารจัดการอุปกรณ์รักษาความปลอดภัยเครือข่าย FortiGate (FortiGate Firewall Administration) และ หลักสูตรการจัดการเหตุการณ์และการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูล (Fortinet Security Information and Event Management หรือ FortiSIEM) โดยแต่ละหลักสูตรมีระยะเวลาในการฝึกอบรม 30 ชั่วโมง และเปิดรับผู้เข้าอบรมจำนวน 30 คนต่อหลักสูตร

หลักสูตร FortiGate Firewall Administration เป็นหลักสูตรที่มุ่งเน้นการสอนเกี่ยวกับเทคโนโลยี Next-Generation Firewall ซึ่งเป็นระบบรักษาความปลอดภัยเครือข่ายที่มีความสำคัญในการป้องกันการโจมตีทางไซเบอร์ หลักสูตรนี้ครอบคลุมเนื้อหาตั้งแต่การตั้งค่าอุปกรณ์ การตรวจจับและป้องกันการบุกรุกแบบเรียลไทม์ ไปจนถึงการใช้ระบบป้องกันไวรัสและมัลแวร์อย่างครบวงจร เพื่อช่วยให้องค์กรสามารถปกป้องเครือข่ายของตนจากภัยคุกคามที่มีความซับซ้อนมากขึ้นในปัจจุบัน

หลักสูตร FortiSIEM เป็นหลักสูตรที่มุ่งเน้นการรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลด้านความปลอดภัยจากแหล่งต่าง ๆ ในเครือข่ายองค์กร โดยใช้ระบบ FortiSIEM ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญในการจัดการความปลอดภัยไซเบอร์ที่ทันสมัย หลักสูตรนี้จะช่วยให้องค์กรสามารถรับมือกับภัยคุกคามที่มีความซับซ้อนและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผ่านการวิเคราะห์และการตอบสนองต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเวลาอันสั้น

นอกจากนี้ ฟอร์ติเน็ตยังเปิดเผยผลการสำรวจล่าสุดจากรายงาน Global Cybersecurity Skills Gap Report ประจำปี 2024 ซึ่งสะท้อนถึงความท้าทายด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ที่องค์กรทั่วโลกกำลังเผชิญ ผลการสำรวจระบุว่า ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรที่มีทักษะด้านไซเบอร์ซีเคียวริตี้ยังคงเป็นประเด็นสำคัญ โดย 70% ขององค์กรที่ตอบแบบสำรวจระบุว่า การขาดบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญในด้านนี้ส่งผลให้เกิดความเสี่ยงต่อความปลอดภัยขององค์กรเพิ่มมากขึ้น ยิ่งไปกว่านั้น เกือบ 90% ของผู้นำองค์กรยอมรับว่า การขาดทักษะด้านไซเบอร์เป็นสาเหตุสำคัญของการละเมิดความปลอดภัยที่เกิดขึ้น ซึ่งตัวเลขนี้เพิ่มขึ้นจาก 84% ในรายงานปี 2023 และ 80% ในปีก่อนหน้า

ในขณะเดียวกัน ผู้นำองค์กรยังให้ความสำคัญกับการได้รับการรับรองคุณวุฒิด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ โดย 89% ขององค์กรที่ตอบแบบสำรวจกล่าวว่า ยินดีที่จะลงทุนในใบรับรองคุณวุฒิด้านไซเบอร์ซีเคียวริตี้ให้กับพนักงาน เพื่อยืนยันว่าพนักงานมีทักษะและความรู้ที่ทันสมัยและสอดคล้องกับความต้องการขององค์กร

เพื่อช่วยสนับสนุนองค์กรในการแก้ไขปัญหาด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ ฟอร์ติเน็ตได้นำเสนอ Fortinet Security Fabric ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มบูรณาการที่ครอบคลุมผลิตภัณฑ์ด้านความปลอดภัยเครือข่ายกว่า 50 รายการ ที่สามารถทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ฟอร์ติเน็ตยังมี Fortinet Training Institute ซึ่งเป็นสถาบันฝึกอบรมที่ได้รับรางวัล มีโปรแกรมการฝึกอบรมและการรับรองที่หลากหลายและครอบคลุมที่สุดในอุตสาหกรรม ความมุ่งมั่นของสถาบันนี้คือการทำให้การรับรองด้านความปลอดภัยไซเบอร์เข้าถึงได้สำหรับทุกกลุ่มบุคคล รวมถึงการฝึกอบรมการรับรู้ด้านความปลอดภัยสำหรับองค์กร เพื่อพัฒนาบุคลากรที่มีความตระหนักรู้และมีความสามารถในการป้องกันภัยคุกคามไซเบอร์อย่างมีประสิทธิภาพ

นายสมบัติ โพธิวัฒน์ ผู้ตรวจราชการ กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน กล่าวว่า “ท่านอธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน นางสาวบุปผา เรืองสุด ได้ให้ความสำคัญอย่างยิ่งในการพัฒนากำลังคนให้มีทักษะด้านดิจิทัลที่ทันสมัยและตรงตามความต้องการของภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านความมั่นคงและปลอดภัยของข้อมูล เราจึงได้จัดทำหลักสูตรยกระดับฝีมือด้านดิจิทัลระดับสูงจำนวน 7 หลักสูตร เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนากำลังคนดิจิทัลของประเทศไทย และสนับสนุนให้ประเทศไทยก้าวสู่ยุคเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบในอนาคต”

หลักสูตรฝึกอบรมของกรมพัฒนาฝีมือแรงงานที่จัดร่วมกับฟอร์ติเน็ตและ CIPAT ครั้งนี้ เปิดรับสมัครบุคคลที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป มีประสบการณ์ทำงานหรือประกอบอาชีพที่เกี่ยวข้อง มีวุฒิการศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) หรือเทียบเท่าในสาขาไอทีหรือสาขาที่เกี่ยวข้อง และต้องผ่านการฝึกทักษะออนไลน์ (DSD Online Training) ของกรมพัฒนาฝีมือแรงงานในหลักสูตร Basic Network สำหรับมือใหม่สายไอที หรือผ่านการฝึกอบรมยกระดับฝีมือในหลักสูตร การพัฒนาอาชีพเฝ้าระวังและป้องกันภัยทางไซเบอร์ ของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน

การฝึกอบรมนี้ถือเป็นโอกาสที่ดีในการยกระดับทักษะและความรู้ด้านไซเบอร์ซีเคียวริตี้ให้กับบุคลากรที่ต้องการเพิ่มพูนความสามารถในด้านนี้ โดยมีความสำคัญอย่างยิ่งในการเตรียมความพร้อมให้กับองค์กรธุรกิจและหน่วยงานต่าง ๆ ในการรับมือกับความท้าทายและภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่มีความซับซ้อนในยุคดิจิทัลนี้