ETDA เปิดตัวคู่มือใหม่ ‘Screen and Monitor’ สกัดโฆษณาลวง-ผิดกฎหมาย คืนพื้นที่ปลอดภัยสู่ออนไลน์

Share

ในยุคที่ทุกอย่างดำเนินไปบนแพลตฟอร์มดิจิทัล ปัญหาการถูกหลอกลวงทางออนไลน์ได้กลายเป็นหนึ่งในประเด็นที่สำคัญระดับโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งจาก “โฆษณาออนไลน์” ซึ่งปรากฏอยู่ในสื่อต่างๆ บนโลกดิจิทัล รายงานจากสำนักงานคณะกรรมการการค้าแห่งสหรัฐอเมริกา (FTC) ในปี 2565 ระบุว่า มีการร้องเรียนจากประชาชนทั่วประเทศสหรัฐอเมริกาว่าถูกหลอกลวงทางออนไลน์คิดเป็นมูลค่าความเสียหายรวมกว่า 1.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยต้นตอของการหลอกลวงส่วนใหญ่มาจากโฆษณาบนโซเชียลมีเดีย รายงานล่าสุดในปี 2566 ยังคงชี้ให้เห็นว่าปัญหาโฆษณาลวงออนไลน์ หรือ “Bad Ads” ยังคงส่งผลกระทบในวงกว้างอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าความเสียหายจากโฆษณาออนไลน์เหล่านี้มีมูลค่ารวมถึง 100 พันล้านเหรียญสหรัฐ ทั้งนี้มีการคาดการณ์ว่าร้อยละ 36 ของการคลิกโฆษณาเป็นการคลิกโฆษณาที่หลอกลวง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการกระทำโดยเว็บบอท (Web Bots)

สถานการณ์โฆษณาลวงในประเทศไทย: ความท้าทายที่ต้องเร่งแก้ไข

เมื่อหันกลับมาดูสถานการณ์ในประเทศไทย แม้จะมีรายงานจากศูนย์ช่วยเหลือและจัดการปัญหาออนไลน์ (สายด่วน 1212) ของสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) ที่ระบุว่าจำนวนการร้องเรียนปัญหาออนไลน์ในช่วงเดือนมกราคม – พฤษภาคม 2567 ลดลงถึงร้อยละ 50 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2566 แต่ปัญหาโฆษณาลวงและผิดกฎหมายยังคงเป็นประเด็นที่คนไทยพบเจอและร้องเรียนเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นโฆษณาขายสินค้าที่ไม่ตรงตามจริง โฆษณาสินค้าที่ผิดกฎหมาย โฆษณาเว็บไซต์การพนัน โฆษณาชวนลงทุนหลอกลวง หรือโฆษณาหลอกลวงจ้างงานออนไลน์

สอดคล้องกับผลการปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์ในช่วงวันที่ 1-30 มิถุนายน 2567 ของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้ปิดเว็บพนันไปแล้วถึง 5,771 รายการ ซึ่งเพิ่มขึ้นถึง 20.9 เท่าเมื่อเทียบกับเดือนมิถุนายน 2566 ที่มีเพียง 276 รายการ การดำเนินการดังกล่าวยังรวมถึงการปิดกั้นคอนเทนต์โฆษณาที่เข้าข่ายหลอกลวงประชาชนบนแพลตฟอร์มดิจิทัลกว่า 23,248 รายการ ในช่วงเดือนตุลาคม 2566 ถึงกุมภาพันธ์ 2567

car rental website on computer screen for tourist to rent a car for transportation snugly

แนวทางการแก้ไขและมาตรการควบคุม

ถึงแม้ตัวเลขการปราบปรามปัญหาจะสร้างความโล่งใจในระดับหนึ่ง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าปัญหาจะลดลงไปด้วย ตรงกันข้าม ปัญหาเหล่านี้กลับมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในยุคที่ทุกกิจกรรมดำเนินการผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัล เพื่อรับมือกับสถานการณ์นี้ นอกจากการปราบปรามที่เข้มงวดจากภาครัฐและการเพิ่มทักษะการรู้เท่าทันของผู้ใช้งาน แพลตฟอร์มดิจิทัลเองก็มีบทบาทสำคัญในการยกระดับมาตรการตรวจสอบและควบคุมเนื้อหาโฆษณาที่ไม่เหมาะสมอย่างต่อเนื่อง

สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) ซึ่งมีหน้าที่ส่งเสริมความปลอดภัยในการทำธุรกรรมออนไลน์ ได้ออก “คู่มือการดูแลโฆษณาบนบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล” ภายใต้กฎหมาย Digital Platform Services (DPS) คู่มือนี้มีเป้าหมายเพื่อกำหนดแนวทางในการตรวจสอบและควบคุมเนื้อหาโฆษณาบนแพลตฟอร์มดิจิทัล เพื่อป้องกันปัญหาโฆษณาลวงและผิดกฎหมายด้วย 2 กลไกสำคัญ ได้แก่ Screening (การตรวจสอบก่อนเผยแพร่) และ Monitoring (การตรวจสอบหลังเผยแพร่)

กลไกการตรวจสอบโฆษณาออนไลน์

กลไก Screening มุ่งเน้นไปที่การตรวจสอบก่อนที่โฆษณาจะเผยแพร่ออกไป โดยแพลตฟอร์มดิจิทัลจะต้องมีกระบวนการตรวจสอบข้อมูลของผู้โฆษณา รวมถึงการเก็บข้อมูลที่จำเป็น เช่น ชื่อ-สกุล หรือชื่อนิติบุคคลของผู้ทำการโฆษณา เลขประจำตัวประชาชน หรือเลขที่หนังสือเดินทาง โดยมีการพิสูจน์และยืนยันตัวตนผ่านระบบ Digital ID ที่เชื่อถือได้ นอกจากนี้ยังต้องมีการจัดทำทะเบียนประวัติผู้โฆษณาที่อาจเข้าข่ายผิดกฎหมายหรือมีประวัติไม่ดี รวมถึงกำหนดลักษณะของโฆษณาที่ต้องห้ามหรือที่เผยแพร่ได้แบบมีข้อจำกัด และต้องเก็บข้อมูลและแบ่งประเภทของโฆษณาอย่างชัดเจน

กลไก Monitoring มุ่งเน้นการตรวจสอบหลังเผยแพร่โฆษณา โดยมีการตรวจสอบคุณภาพของผู้โฆษณาและเนื้อหาโฆษณาที่เผยแพร่ ทั้งผ่านระบบอัตโนมัติและการตรวจสอบโดยเจ้าหน้าที่ เพื่อให้แน่ใจว่าโฆษณาที่เผยแพร่นั้นถูกต้องตามกฎหมายและไม่มีเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม นอกจากนี้ยังจัดให้มีช่องทางให้ผู้ใช้บริการสามารถรายงานโฆษณาที่น่าสงสัยหรือผิดกฎหมายได้ทันที

ประโยชน์จากมาตรการควบคุมโฆษณาออนไลน์

การมีคู่มือควบคุมโฆษณาออนไลน์นี้จะส่งผลดีต่อทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง:

  • ผู้ใช้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัล จะได้รับความปลอดภัยและความเชื่อมั่นในการใช้งานแพลตฟอร์มมากขึ้น เนื่องจากมีโอกาสน้อยที่จะพบเจอโฆษณาลวงหรือผิดกฎหมาย นอกจากนี้ยังสามารถรายงานโฆษณาที่ไม่เหมาะสมได้ง่ายขึ้น
  • ผู้ประกอบการ ที่ทำโฆษณาบนแพลตฟอร์มดิจิทัลจะได้รับความชัดเจนในเรื่องของกฎระเบียบและแนวทางในการทำโฆษณา ช่วยให้การโฆษณาเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ และลดความเสี่ยงจากการถูกสวมรอยจากมิจฉาชีพ
  • แพลตฟอร์มดิจิทัล จะได้รับประโยชน์จากการลดความเสี่ยงที่จะถูกฟ้องร้องจากการปล่อยให้มีโฆษณาผิดกฎหมาย นอกจากนี้ยังช่วยเสริมสร้างภาพลักษณ์ในฐานะแพลตฟอร์มที่มีมาตรฐานในการให้บริการที่ปลอดภัยและน่าเชื่อถือ
  • หน่วยงานรัฐและเอกชน จะสามารถติดตามตรวจสอบโฆษณาลวงได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น

การมีมาตรการควบคุมที่เข้มงวดเช่นนี้ไม่เพียงแต่จะช่วยลดปัญหาโฆษณาลวงและผิดกฎหมาย แต่ยังเป็นการสนับสนุนให้ธุรกิจดำเนินงานด้วยความรับผิดชอบ และสร้างสภาพแวดล้อมที่น่าเชื่อถือสำหรับการทำธุรกรรมออนไลน์ในระยะยาว