กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เดินหน้าสร้างภูมิคุ้มกันทางไซเบอร์ให้คนไทย จัดกิจกรรมใหญ่ในภาคเหนือตอนล่าง เสริมทักษะดิจิทัลแก่ผู้นำชุมชน ผู้สูงอายุ และเยาวชน ให้รู้เท่าทันและรับมือกับข่าวปลอม หลังพบคนไทยใช้สมาร์ทโฟนพุ่งสูงถึง 96.3% ทำให้ข่าวสารแพร่กระจายรวดเร็ว รวมถึงข่าวบิดเบือนที่อาจสร้างผลกระทบวงกว้าง
ศาสตราจารย์พิเศษวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงดีอี เป็นประธานเปิดกิจกรรม “สร้างการรับรู้ เพื่อรู้เท่าทันและรับมือกับข่าวปลอม ครั้งที่ 2” ภายใต้โครงการศูนย์ประสานงานและแก้ไขปัญหาข่าวปลอม (Anti Fake News Center: AFNC) จังหวัดพิษณุโลก โดยมีนายเวทางค์ พ่วงทรัพย์ เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และโฆษกกระทรวงดีอี พร้อมด้วยผู้บริหารจากหน่วยงานในสังกัด ผู้นำชุมชน กลุ่มผู้สูงอายุ และเยาวชนจากโรงเรียนวังทองพิทยาคม เข้าร่วมอย่างคับคั่ง
ปลัดกระทรวงดีอีเน้นย้ำว่า การสร้างความตระหนักรู้ เสริมทักษะการใช้งานเทคโนโลยี และการป้องกันภัยออนไลน์ เป็นภารกิจสำคัญของดีอี เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในการใช้ดิจิทัล และรู้เท่าทันสื่อสังคมออนไลน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่เทคโนโลยี AI เข้ามามีบทบาทในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร ทำให้การวิเคราะห์และแยกแยะข่าวจริง ข่าวปลอม หรือข่าวบิดเบือน เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง
ผลสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2567 (ไตรมาส 1) ชี้ชัดว่าคนไทยใช้สมาร์ทโฟนสูงถึง 96.3% สะท้อนให้เห็นถึงการแพร่กระจายของข้อมูลข่าวสารที่รวดเร็วและกว้างขวาง ซึ่งรวมถึงข่าวสารที่บิดเบือนข้อเท็จจริง ที่อาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิดและส่งผลกระทบต่อสังคม เศรษฐกิจ และความมั่นคงของประเทศในวงกว้าง ไม่ว่าจะเป็นภัยพิบัติ เศรษฐกิจ สุขภาพอนามัย หรือนโยบายรัฐบาล
กระทรวงดีอีจึงได้จัดกิจกรรมนิทรรศการสร้างความรู้และเสริมทักษะการรับมือข่าวปลอม โดยแบ่งเป็น 2 กิจกรรมย่อยที่เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมาย เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันและทักษะการป้องกันภัยออนไลน์ให้ประชาชน
นอกจากนี้ กระทรวงดีอียังมุ่งเน้นส่งเสริมทักษะการใช้เทคโนโลยี AI เพื่อช่วยในการวิเคราะห์เชิงลึก แยกแยะและตรวจสอบข้อมูลข่าวสารได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันในการใช้งานโซเชียลมีเดีย ปิดกั้นช่องทางการก่ออาชญากรรมออนไลน์ และสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในการแจ้งเบาะแส หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมประเทศไทย www.antifakenewscenter.com และช่องทางโซเชียลมีเดียต่างๆ ของ AFNC
กิจกรรมครั้งนี้ไม่เพียงแต่เน้นการสร้างทักษะด้านดิจิทัลและการรู้เท่าทันข่าวปลอม ซึ่งเป็นช่องทางหนึ่งของอาชญากรรมออนไลน์ แต่ยังให้ความสำคัญกับนักเรียน เยาวชน ซึ่งถือเป็นพลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ และเป็นสื่อสัมพันธ์ที่ดีระหว่างหน่วยงาน โรงเรียน และสถาบันครอบครัว ขณะที่ผู้นำชุมชนและกลุ่มผู้สูงอายุจะทำหน้าที่เป็นผู้เผยแพร่ส่งต่อความรู้และทักษะด้านการป้องกันอาชญากรรมออนไลน์ให้กับชุมชนและประชาชนในพื้นที่ต่อไป