ไม่เพียงแค่ “สะกดทัพ”

Share

เป็นระยะเวลา 15 ปี ที่คนไทยได้มีโอกาสชมความวิจิตรตระการตาของการแสดงระดับชาติ อย่างโขนพระราชทาน” ที่ได้รับการสืบทอดไว้ ตามพระราชเสาวนีย์ของ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ โดยให้มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ รับผิดชอบจัดแสดง โขนพระราชทานทั้งสิ้น 9 ตอน ในปีนี้ ถือเป็น ตอนที่ 10 ชื่อศึกไมยราพ  “สะกดทัพ” เป็นการนำบทพระราชนิพนธ์รามเกียรติ์ฉบับในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่ 1)  มาปรับจากการแสดงโขนพระราชทานเมื่อปี  พ.ศ. 2554 ในชื่อตอน ศึกมัยราพณ์  ตามบทละครพระราชนิพนธ์ของสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ 2) ซึ่งมีความแตกต่างกับบทในครั้งนี้ สร้างสรรค์พัฒนาขึ้น

โขนพระราชทาน “สะกดทัพ” ปีนี้ จัดขึ้นเพื่อเฉลิมฉลอง 2 โอกาสมหามงคลของปวงชนชาวไทย ได้แก่ เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 70 พรรษา 28 กรกฎาคม 2565 และเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา 12  สิงหาคม 2565

“สะกดทัพ” เป็นบทหนึ่งในเรื่องรามเกียรติ์ ที่ไมยราพได้รับบัญชาจากทศกัณฐ์ให้มาช่วยรบกับพระราม จึงลอบเข้าไปสะกดทัพพระราม แล้วจึงแบกพระรามพาแทรกแผ่นดินไปยังเมืองบาดาล เป็นเหตุให้หนุมานต้องตามไปช่วยพระราม ในระหว่างทางไปเมืองบาดาล หนุมานจะสามารถฝ่าฟันด่านต่าง ๆ เพื่อไปช่วยพระรามกลับมาได้สำเร็จ ในการแสดงมี  2 องค์ องค์แรกจำนวน 6 ฉาก องค์ที่ 2 จำนวน 7 ฉาก

ประกอบด้วย องค์ที่ 1 ฉากที่ 1 ขบวนทัพไมยราพ ฉากที่  2 ท้องพระโรงกรุงลงกา ฉากที่ 3 โรงพิธี ฉากที่ 4 ห้องบรรทมพระราม ฉากที่ 5 พลับพลาพระราม และฉากที่ 6 หนุมานอมพลับพลา

องก์ที่ 2 ประกอบด้วย ฉากที่ 1 หนุมานทำลายด่าน ฉากที่ 2 สระบัว  ฉากที่ 3 สระน้ำนอกเมืองบาดาล ฉากที่ 4 หน้าประตูเมือง ฉากที่ 5 ปราสาทไมยราพ ฉากที่ 6 ป่าดงตาล และฉากที่ 7 เทพชุมนุม

ตลอดระยะเวลา ประมาณ 3 ชั่วโมง ที่นั่งชมโขน “สะกดทัพ” มีความตื่นตาตื่นใจมากกับทุกสิ่งที่ปรากฏในสายตา  ไฮไลท์ของโขนพระราชทาน ไม่ใช่อยู่แค่หน้าฉาก ขณะมีการแสดงเท่านั้น  ไม่ใช่แค่ดูการหลอมรวมศิลปะของชาติหลากหลายแขนง นับแต่วรรณกรรม วรรณศิลป์ นาฏศิลป์ คีตศิลป์ หัตถศิลป์ เข้าด้วยกัน  หากแต่ไฮไลท์แท้จริง คือ เบื้องหลังก่อนจะมาเป็นโขนที่ปรากฏกับสายตาคนดู เพราะทีมงานที่ต้องเตรียมงาน รับผิดชอบ ศิราภรณ์ หัวโขน  พัสตราภรณ์ ถนิมพิมพาภรณ์ ช่างแต่งหน้าโขน ต้องใช้ช่างฝีมือชั้นครู ทุกประเภท ทั้งช่างทอง ช่างปัก ช่างปั้น ช่างเขียน ช่างมุก ช่างปิดทอง ช่างทำกระดาษ จำนวนกว่า 70 คนที่บรรจงสรรสร้างงานแบบโบราณ  ที่มีความละเอียด วิจิตรงดงาม เพื่อให้เป็นที่ประจักษ์สำหรับคนดูแล้ว

ศิลปกรรมฉากเป็นอีกสิ่งที่ ตื่นตาตื่นใจไม่น้อย นอกเหนือจากฉาก ปกติอย่าง ฉากม่านพระสูง 12 เมตร ยาว 20 เมตร ออกแบบภายใต้แนวคิดการจัดงานพิธีที่ต้องอัญเชิญพระพุทธเจ้า และทวยเทพทุกพระองค์  อาทิ พระอิศวร พระนารายณ์ พระพรหม พระภรตมุนี พระพิฆเนศวร พระวิษณุกรรม พระประโคนธรรพ พระอาทิตย์ พระจันทร์ เป็นต้น ยังมีฉากพิเศษ อย่างฉากหนุมานอมพลับพลา ขนาดใหญ่ สูง 8.50 เมตร หรือฉากหนุมานแผลงฤทธิ์ แปลงร่างใหญ่ยักษ์ 4 พักตร์ 8 กร สูงเทียมฟ้า ที่มีการนำเอากลไกด้านวิศวกรรม เป็นเมคคานิก มอเตอร์ ในการเอาคอมพิวเตอร์เข้ามาควบคุมให้มีความสมจริง มีความละเอียด เช่น ตัวหุ่นสามารถหัน ขยับซ้าย ขวา หรือนิ้วขยับได้ เป็นข้อ ๆ เหมือนมือจริง

ในขณะที่ผู้ชมกำลังรื่นรมย์กับการแสดงนั้น ทีมงานที่ดูแลเวที  150 คน ต้องทำงานตลอดเวลา การเปลี่ยนแปลงฉาก การไฟ และอื่นๆ มีจำเป็นต้องใช้ความแม่นยำ รวดเร็ว มีระเบียบสูง เพื่อให้จังหวะสอดรับ ไม่ผิดพลาด

ในส่วนของนักแสดงนั้น ต้องซ้อมการแสดงนับแรมปี ทั้งท่ารำของตนและนักแสดงร่วม ไม่นับรวม บทที่เขียนระบุเอกลักษณ์ตัวละคร ทั้งอารมณ์ บุคลิคภาพ รวมทั้งการหันหน้าไปรับแสงไฟบนเวที การก้าวเดิน จังหวะดนตรีที่สอดรับกันพอดี   ที่สำคัญกว่านั้นคือ ในแต่ละฉากตัวละครแต่ละตัวที่รับบท ไม่ใช่คน ๆ เดียว ดังนั้นการแสดงต้องทำให้ดูกลมกลืนเหมือนแสดงด้วยคนคนเดียว โดยผู้ชมไม่ทราบว่า เช่น มัจฉานุใช้เด็กประถม 3 คนในการแสดงต่อตอน หรือ ตัวแสดงหนุมานที่ต้องใช้ตัวแสดงถึง 6-7 ตัวต่อตอน  หรือตัวแสดงพระราม-ลักษณ์  ใช้คน 4 คู่ 8 คนในการแสดง

คนเหล่านี้จะถูก ฝึกฝน เคี่ยวกรำ มานานกว่าจะมาแสดง โดยในการแสดงโขนพระราชทานจะเป็น แบ่งเป็น นักแสดง 3 กลุ่ม กลุ่มแรกจะเป็นศิลปินรุ่นครู มีลีลาท่ารำ งามสง่า  กลุ่มที่ 2 คือ ผู้ที่เคยเล่นโขนพระราชทานแล้วบ้างและกลุ่มเด็ก นักแสดง ที่จะมาต่อรุ่น

หลายคนมักจะบอกว่า โขนพระราชทานเป็นการหลวมรวมศิลปะไทย หลายแขนงเข้าด้วยกันแล้ว แท้จริงยังเป็นการหลอมรวมคนกว่า 1,000 ชีวิต ที่นำจารีตประเพณีดั้งเดิมมารวมกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ แสง สี อารมณ์ ฉาก เทคนิคบนเวที สอดรับประสานกันได้อย่างลงตัว ไม่ใช่เพียงสะกดทัพเท่านั้น แต่ยังสามารถสะกดคนดู ได้ตลอดระยะเวลาที่ชม “โขนพระราชทาน”  ด้วย