แอสตร้าเซนเนก้า บริษัทเวชภัณฑ์ชั้นนำระดับโลก เปิดเผยความสำเร็จครั้งสำคัญในการนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาใช้ในการคัดกรองมะเร็งปอดจากภาพเอกซเรย์ทรวงอก โดยผลการวิจัยภายใต้โครงการ CREATE ซึ่งมีการใช้เครื่องมือ qXR-LNMS ที่พัฒนาโดย Qure.ai แสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพและความแม่นยำที่สูงกว่ามาตรฐานอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งจะช่วยขยายโอกาสให้ประชาชนเข้าถึงการตรวจคัดกรองและวินิจฉัยโรคด้วยวิธีที่ทันสมัยและสะดวกยิ่งขึ้น
จากสถิติขององค์การอนามัยโลก มะเร็งปอดเป็นสาเหตุการเสียชีวิตจากโรคมะเร็งอันดับหนึ่งของโลก โดยมีผู้ป่วยรายใหม่ถึง 2.5 ล้านราย และเสียชีวิตประมาณ 1.8 ล้านรายต่อปี สำหรับประเทศไทย มะเร็งปอดเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับสอง โดยมีผู้ป่วยรายใหม่ถึง 17,222 รายต่อปี หรือเฉลี่ยเสียชีวิตวันละ 40 คน
ผลการวิจัยจากโครงการ CREATE ซึ่งศึกษาใน 5 ประเทศ ได้แก่ อียิปต์ อินเดีย อินโดนีเซีย เม็กซิโก และตุรกี โดยมีผู้เข้าร่วม 700 ราย พบว่าค่าความแม่นยำของ Positive Predictive Value (PPV) อยู่ที่ร้อยละ 54.1 ซึ่งสูงกว่ามาตรฐานที่กำหนดไว้ถึง 20% และค่า Negative Predictive Value (NPV) อยู่ที่ร้อยละ 93.5 ซึ่งสูงกว่ามาตรฐานถึง 70% ที่สำคัญ ผลการศึกษามีความสอดคล้องกันในทุกกลุ่มประชากร รวมถึงผู้ที่ไม่เคยสูบบุหรี่และผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 55 ปี ซึ่งโดยทั่วไปไม่ได้อยู่ในเกณฑ์การตรวจคัดกรองมะเร็งปอด
นอกจากนี้ ยังมีการนำเสนอแบบจำลองการวิเคราะห์ผลกระทบด้านงบประมาณ โดยอ้างอิงข้อมูลจากประเทศเวียดนาม พบว่าการใช้ AI ร่วมกับการเอกซเรย์ทรวงอกสามารถเป็นขั้นตอนเบื้องต้นที่มีประสิทธิภาพก่อนการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ด้วยปริมาณรังสีต่ำ (Low Dose CT : LDCT) โดยเฉพาะในสภาพแวดล้อมที่มีทรัพยากรจำกัด ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของโปรแกรมการคัดกรองในกลุ่มผู้มีความเสี่ยงสูง และยังช่วยให้ตรวจพบมะเร็งปอดได้ตั้งแต่ระยะเริ่มต้น ส่งผลให้ลดค่าใช้จ่ายในการรักษาได้
พญ. วาสนา ประสิทธิ์สืบสาย ผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า ประเทศไทย และ Frontier Markets กล่าวว่า “แอสตร้าเซนเนก้าได้ร่วมมือกับ Qure.ai ภายใต้โครงการ Lung Ambition Alliance ตั้งแต่ปี 2565 โดยนำเทคโนโลยี AI qXR-LNMS มาใช้ในการคัดกรองสัญญาณเริ่มต้นของมะเร็งปอด โครงการนี้มีเป้าหมายในการตรวจคัดกรองประชากรกว่า 1 ล้านคนภายในปี 2569 ปัจจุบัน เราได้ดำเนินการคัดกรองแล้วกว่า 5 แสนคน และมีอัตราการตรวจพบมะเร็งปอดที่ 0.1% ข้อมูลจากการศึกษา CREATE แสดงให้เห็นถึงประโยชน์ของ AI ที่สามารถเข้าถึงได้ง่าย ต้นทุนต่ำ และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในระบบสาธารณสุขเพื่อยกระดับการเข้าถึงการดูแลสุขภาพได้อย่างมีประสิทธิภาพ”
นพ. ภาสกร วันชัยจิระบุญ อายุรแพทย์มะเร็งวิทยา ผู้อำนวยการฝ่ายเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์และนวัตกรรมทางการแพทย์ โรงพยาบาลพระปกเกล้า กล่าวว่า “แม้ว่าแนวทางมาตรฐานในการตรวจคัดกรองมะเร็งปอดจะแนะนำให้ใช้การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์แบบปริมาณรังสีต่ำ แต่ประเทศไทยยังคงเผชิญกับข้อจำกัดด้านต้นทุนสูงและการเข้าถึงที่จำกัด การมีเทคโนโลยี AI ที่เสริมการตรวจภาพเอกซ์เรย์ทรวงอก สามารถเพิ่มการเข้าถึงการคัดกรองมะเร็งปอดในบริบทของประเทศที่มีทรัพยากรจำกัดได้ อย่างไรก็ตาม การนำ AI มาใช้นั้นจำเป็นต้องมาพร้อมกับความเข้าใจจากผู้ใช้ รวมถึงการวิจัยและปรับใช้ให้เหมาะสมกับบริบทของพื้นที่เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด”
ความสำเร็จในการนำ AI มาใช้ในการคัดกรองมะเร็งปอดในครั้งนี้ ถือเป็นก้าวสำคัญในการเสริมสร้างความมั่นคงด้านสุขภาพที่ยั่งยืนให้กับประชากร การตรวจสุขภาพและการคัดกรองโรคอย่างสม่ำเสมอ รวมถึงการมีนวัตกรรมที่เข้าถึงง่ายและมีประสิทธิภาพ จะช่วยยกระดับการวินิจฉัยโรคให้มีความรวดเร็วและแม่นยำ เพิ่มโอกาสในการรักษาโรคต่างๆ เช่น มะเร็งปอด ให้กับประชาชนได้อย่างมีประสิทธิผล
มูลนิธิรามาธิบดีฯ เปิดตัวภาพยนตร์โฆษณา “พื้นที่แห่งความหวัง” สานต่อภารกิจขยายพื้นที่รักษา