แอสตร้าเซเนก้า (ประเทศไทย) ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MoU) กับศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านเวชพันธุศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มุ่งพัฒนาเทคโนโลยี Next Generation Sequencing (NGS) เพื่อเพิ่มความแม่นยำในการตรวจยีนกลายพันธุ์สำหรับโรคหายาก พร้อมสร้างความตระหนักรู้ในสังคมเกี่ยวกับความสำคัญของการตรวจยีนทางพันธุกรรม
นายโรมัน รามอส ประธานบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า ประเทศไทย และ Frontier Markets กล่าวว่า การร่วมมือครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อยกระดับมาตรฐานการดูแลผู้ป่วยโรคหายากในประเทศไทย ซึ่งมีจำนวนผู้ป่วยคิดเป็นประมาณ 5% ของประชากร หรือราว 3.5 ล้านคน การพัฒนาเทคโนโลยี NGS จะช่วยให้แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคได้แม่นยำยิ่งขึ้น ช่วยวางแผนการรักษาได้ตั้งแต่ระยะแรกเริ่ม ตลอดจนสนับสนุนการฝึกอบรมบุคลากรทางการแพทย์และสร้างเครือข่ายความร่วมมือทั้งในและต่างประเทศ
ด้าน ศ.นพ.วรศักดิ์ โชติเลอศักดิ์ กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคพันธุกรรม คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านเวชพันธุศาสตร์ของจุฬาฯ เป็นผู้นำด้านเทคโนโลยี NGS ในประเทศไทย ซึ่งสามารถวินิจฉัยโรคหายากในระดับโมเลกุล ช่วยค้นหาความผิดปกติของยีนตั้งแต่ก่อนแสดงอาการ นำไปสู่การป้องกันและพัฒนาวิธีรักษาในอนาคต
แม้โรคหายากแต่ละโรคจะพบได้น้อย แต่เมื่อรวมกันแล้วกลับมีความชุกถึง 7,000 โรค สร้างความทุกข์ทรมานให้ทั้งผู้ป่วยและครอบครัว การพัฒนาเทคโนโลยี NGS ช่วยสร้างความหวังใหม่ ด้วยศักยภาพในการตรวจหาและป้องกันโรคได้ตั้งแต่เนิ่นๆ นับเป็นก้าวสำคัญของวงการแพทย์ไทยในการพัฒนานวัตกรรมที่ตอบโจทย์สุขภาพคนไทยอย่างยั่งยืน
ผู้ที่มีความเสี่ยงสามารถเข้ารับการตรวจยีนได้ที่ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านเวชพันธุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือที่มุ่งมั่นยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนไทยให้ก้าวไกลทัดเทียมนานาชาติ