สัญญาณเตือนภัยผู้สูงวัย มธ. ชี้ “สังคมสูงวัยสมบูรณ์แบบ” จ่อซ้ำเติมวิกฤตเศรษฐกิจไทย กระทบสุขภาพจิต-โครงสร้างแรงงาน

สัญญาณเตือนภัยผู้สูงวัย! มธ. ชี้ "สังคมสูงวัยสมบูรณ์แบบ" จ่อซ้ำเติมวิกฤตเศรษฐกิจไทย กระทบสุขภาพจิต-โครงสร้างแรงงาน
Share

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ออกโรงเตือนภัยครั้งสำคัญ! ประเทศไทยกำลังเผชิญหน้ากับความท้าทายครั้งใหญ่จากการก้าวเข้าสู่ “สังคมสูงวัยสมบูรณ์แบบ” (Complete aged society) อย่างเต็มรูปแบบ โดยมีการคาดการณ์ว่าสัดส่วนประชากรผู้สูงอายุ (60 ปีขึ้นไป) จะพุ่งสูงถึง 20-30% ของจำนวนประชากรทั้งหมด ซึ่งสถานการณ์นี้ไม่เพียงแต่จะส่งผลกระทบต่อโครงสร้างแรงงานและการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ยังน่ากังวลถึงผลกระทบต่อสุขภาพจิต และความเป็นอยู่ของผู้สูงวัยอีกด้วย

รศ.ดร.อัจฉรา ชลายนนาวิน ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายสาธารณะ และนโยบายสิ่งแวดล้อมและอาจารย์ประจำคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ เปิดเผยถึงข้อมูลที่น่าตกใจว่า ปัจจุบันในทุกๆ 100 คน จะมีผู้สูงอายุถึง 21 คน และแนวโน้มนี้มีแต่จะเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยอัตราส่วนพึ่งพิงผู้สูงอายุได้เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดจาก 10.7% ในปี 2537 เป็น 31.1% ในปี 2567 ซึ่งหมายความว่าประชากรวัยทำงานจำนวนน้อยลงจะต้องแบกรับภาระดูแลผู้สูงอายุที่มากขึ้น ทั้งในด้านการเงินและสวัสดิการ

สัญญาณเตือนภัยผู้สูงวัย! มธ. ชี้ "สังคมสูงวัยสมบูรณ์แบบ"

วิกฤตเศรษฐกิจซ้ำเติมผู้สูงวัยไร้บำนาญ-ขาดแคลนแรงงาน

รศ.ดร.อัจฉรา ชี้ให้เห็นว่า การที่ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ไม่สามารถทำงานในภาคแรงงานได้เต็มที่ ประกอบกับภาระการดูแลสุขภาพและสวัสดิการที่เพิ่มขึ้น จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ รัฐบาลจะต้องเตรียมพร้อมในการจัดสรรงบประมาณเพื่อรองรับภาระที่เพิ่มขึ้น เช่น โครงการประกันสุขภาพและการสนับสนุนทางการเงินสำหรับผู้สูงอายุ นอกจากนี้ ปัญหาการขาดแคลนแรงงานวัยทำงานยังเป็นอีกหนึ่งความท้าทายสำคัญที่อาจทำให้ไทยต้องพึ่งพาแรงงานข้ามชาติมากขึ้น

โดดเดี่ยว-เสี่ยงถูกหลอกลวง สุขภาพจิตผู้สูงวัยน่าห่วง

สถานการณ์ที่น่ากังวลไม่แพ้กันคือ แนวโน้มการอยู่อาศัยของผู้สูงอายุเพียงลำพังที่เพิ่มสูงขึ้นถึงเกือบ 4 เท่า จาก 3.6% ในปี 2537 เป็น 12.9% ในปี 2567 ซึ่งนำมาสู่ปัญหาด้านสุขภาพจิตของผู้สูงอายุ ไม่ว่าจะเป็นความเหงา ความเครียด ภาวะซึมเศร้า และความเสี่ยงจากการถูกหลอกลวงออนไลน์ ซึ่งเป็นประเด็นเร่งด่วนที่ต้องได้รับการแก้ไข

สัญญาณเตือนภัยผู้สูงวัย! มธ. ชี้ "สังคมสูงวัยสมบูรณ์แบบ"

แนะรัฐเร่งสร้างสวัสดิการ-ส่งเสริมการดูแลแบบมีส่วนร่วม

รศ.ดร.อัจฉรา เสนอแนะว่า ประเทศไทยจำเป็นต้องเร่งหาทางออกเพื่อรับมือกับสังคมสูงวัยอย่างรอบด้าน โดยต้องพัฒนาระบบสวัสดิการที่โปร่งใสและยั่งยืน รวมถึงศึกษาแนวทางการสนับสนุนบำเหน็จบำนาญจากต่างประเทศ นอกจากนี้ การส่งเสริมให้ผู้สูงอายุมีบทบาทและมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางสังคมอย่างต่อเนื่อง พัฒนาระบบการดูแลที่ครอบคลุมทั้งร่างกายและจิตใจ รวมถึงการสร้างความเข้าใจระหว่างรุ่น ก็เป็นสิ่งสำคัญในการยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้สูงวัย

“มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มุ่งมั่นในการพัฒนาความรู้และทักษะที่สอดคล้องกับบริบทของสังคมสูงวัย เพื่อเตรียมความพร้อมให้แก่นักศึกษาและผู้ประกอบการในการปรับตัวอย่างสร้างสรรค์และยั่งยืน ท่ามกลางความท้าทายทางเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป” รศ.ดร.อัจฉรา กล่าวทิ้งท้าย โดยเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการเตรียมพร้อมรับมือกับ “สังคมสูงวัยสมบูรณ์แบบ” ที่กำลังจะมาถึง เพื่อลดผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม และคุณภาพชีวิตของผู้สูงวัยในประเทศไทย

เนสท์เล่ เฮลท์ ไซเอนซ์ รุกตลาดคอลลาเจนไทย เปิดตัว “ไวทัล โปรตีน” คอลลาเจนเปปไทด์ดังจากอเมริกา ตอบรับเทรนด์สุขภาพบูม