รายงานล่าสุดจาก Philips Future Health Index (FHI) 2025 ซึ่งเป็นการสำรวจด้านเฮลท์แคร์ที่ใหญ่ที่สุดในรอบทศวรรษ เผยให้เห็นภาพที่น่าตกใจของระบบสาธารณสุขในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาความล่าช้าในการเข้าถึงการรักษาพยาบาล ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้ป่วย และเร่งให้เกิดความจำเป็นในการนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาปรับใช้อย่างเร่งด่วน
ผลสำรวจซึ่งรวบรวมข้อมูลเชิงลึกจากบุคลากรทางการแพทย์กว่า 1,900 คน และผู้ป่วยกว่า 16,000 คน จาก 16 ประเทศทั่วโลก ชี้ชัดว่า 66% ของผู้ป่วยในเอเชียแปซิฟิกต้องเผชิญกับความล่าช้าในการพบแพทย์เฉพาะทาง โดยมีระยะเวลารอคอยเฉลี่ยสูงถึง 47 วัน หรือเกือบเดือนครึ่ง! ความล่าช้านี้ไม่ใช่แค่ความไม่สะดวกสบาย แต่ยังส่งผลกระทบโดยตรงต่อสุขภาพของผู้ป่วย โดย 1 ใน 3 (33%) รายงานว่าอาการแย่ลงจากความล่าช้าดังกล่าว และ 1 ใน 4 (25%) ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเนื่องจากการรอคอยที่ยาวนานเกินไป
AI: กุญแจสำคัญในการพลิกโฉมการรักษาพยาบาล
ในทางกลับกัน บุคลากรทางการแพทย์ในภูมิภาคนี้กลับมองเห็นศักยภาพอันมหาศาลของ AI โดย 89% เชื่อมั่นว่าเทคโนโลยี AI และระบบวิเคราะห์เชิงคาดการณ์สามารถช่วยชีวิตผู้ป่วยได้ ด้วยการสนับสนุนให้เกิดการรักษาที่รวดเร็วและแม่นยำขึ้น พวกเขายังคาดการณ์ว่า AI จะช่วยลดจำนวนผู้ป่วยที่ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล (81%) และลดอัตราการทำหัตถการฉุกเฉิน (86%) ในอนาคต
นายแจสเปอร์ เวสเตอร์ริงค์ รองประธานอาวุโสและกรรมการผู้จัดการ ฟิลิปส์ ประเทศญี่ปุ่น และรักษาการประธานและกรรมการผู้จัดการ ฟิลิปส์ ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เน้นย้ำถึงความจำเป็นเร่งด่วนนี้ว่า “ความจำเป็นของการใช้เทคโนโลยี AI สูงขึ้นอย่างไม่เคยมีมาก่อน เมื่อผลสำรวจแสดงให้เห็นว่าผู้ป่วยต้องรอพบแพทย์เฉพาะทางนานกว่าหนึ่งเดือน ในขณะที่บุคลากรทางการแพทย์บางส่วนต้องเสียเวลาทำงานทางคลินิกไปราว 4 สัปดาห์ต่อปี เนื่องจากข้อมูลผู้ป่วยไม่ครบถ้วน ดังนั้น AI จึงมีบทบาทสำคัญที่เข้ามาช่วยให้บุคลากรทางการแพทย์สามารถรักษาผู้ป่วยได้เร็วขึ้น ตัดสินใจได้ดีขึ้น และตอบสนองต่อความต้องการของผู้ป่วยได้รวดเร็วขึ้น เพื่อยกระดับการดูแลรักษาผู้ป่วยให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นแก่ผู้คนจำนวนมากขึ้นเช่นกัน”
ภาระงานและข้อมูลที่ขาดหาย: ตัวเร่งที่ผลักดันให้ AI เข้ามามีบทบาท
นอกจากปัญหาความล่าช้าในการเข้ารับการรักษาแล้ว ผลสำรวจยังเผยให้เห็นถึงความท้าทายที่บุคลากรทางการแพทย์ต้องเผชิญ นั่นคือปัญหาด้านข้อมูลผู้ป่วยและการขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์
- 76% ของบุคลากรทางการแพทย์ในเอเชียแปซิฟิกระบุว่าพวกเขาเสียเวลาสำคัญทางคลินิกไปกับการจัดการข้อมูลผู้ป่วยที่ไม่ครบถ้วนหรือไม่สามารถเข้าถึงได้ โดยเกือบ 1 ใน 3 (31%) เสียเวลาไปมากกว่า 45 นาทีต่อกะการทำงาน หรือเทียบเท่ากับ 23 วันต่อปีต่อบุคลากรแต่ละคน
- 2 ใน 5 (39%) ของบุคลากรทางการแพทย์กล่าวว่าปัจจุบันพวกเขามีเวลาในการดูแลผู้ป่วยน้อยลง แต่ต้องใช้เวลามากขึ้นในงานด้านเอกสารเมื่อเทียบกับ 5 ปีก่อน
ปัญหาเหล่านี้ยิ่งซ้ำเติมวิกฤตการขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ในภูมิภาค โดยองค์การอนามัยโลกคาดการณ์ว่าภายในปี 2573 เฉพาะในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ถึง 6.9 ล้านคน ซึ่งคิดเป็น 40% ของปัญหาการขาดแคลนทั่วโลก
หากไม่มีการนำเทคโนโลยี AI มาใช้ บุคลากรทางการแพทย์ต่างกังวลถึงผลกระทบที่จะตามมา: 45% กังวลเกี่ยวกับจำนวนผู้ป่วยตกค้างที่เพิ่มขึ้น, 42% กังวลถึงภาวะหมดไฟในการทำงานที่เพิ่มขึ้นจากภาระงานด้านเอกสาร และ 40% กังวลว่าจะไม่สามารถให้การรักษาที่ทันต่อยุคสมัยได้
สร้างความเชื่อมั่น: กุญแจสู่การบูรณาการ AI ในวงกว้าง
แม้ว่าบุคลากรทางการแพทย์ส่วนใหญ่ (81%) มีส่วนร่วมในการพัฒนาเทคโนโลยีภายในองค์กร แต่ 39% ยังมองว่าเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นมานั้นไม่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของพวกเขาได้ นอกจากนี้ยังมีข้อกังวลสำคัญเกี่ยวกับความน่าเชื่อถือของ AI โดย 71% กังวลเกี่ยวกับความรับผิดชอบทางกฎหมายจากการใช้ AI และ 66% กังวลเกี่ยวกับข้อมูลที่ไม่เป็นกลางในระบบ AI ซึ่งอาจส่งผลให้การรักษาและผลลัพธ์ไม่ถูกต้อง
ในส่วนของผู้ป่วยนั้น 75% ยอมรับต่อการใช้เทคโนโลยีที่เพิ่มมากขึ้น หากสามารถช่วยขยายโอกาสในการเข้าถึงระบบสาธารณสุขและเป็นประโยชน์ต่อพวกเขา อย่างไรก็ตาม กว่าครึ่ง (51%) กังวลเกี่ยวกับการถูกลดเวลาในการปรึกษาแพทย์แบบตัวต่อตัว และ 54% กังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยของข้อมูลหากมีการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาใช้
“ความเชื่อมั่น” จึงเป็นหัวใจสำคัญสู่การปฏิวัติวงการเฮลท์แคร์ในภูมิภาคนี้ โดย 84% ของบุคลากรทางการแพทย์เห็นว่าการสร้างความเชื่อมั่นในเทคโนโลยี AI ต้องมาพร้อมกับกรอบแนวทางปฏิบัติ วิธีรับมือหากเกิดปัญหา และความรับผิดทางกฎหมายที่ชัดเจน รวมถึงการพัฒนาโซลูชั่นส์ AI ที่มีหลักฐานพิสูจน์แน่ชัด มีความโปร่งใส และสามารถเฝ้าติดตามได้ (72%) และความชัดเจนในด้านความปลอดภัยของข้อมูล (51%)
ผู้ป่วยเองก็ยินดีที่จะใช้เทคโนโลยีมากขึ้น หากช่วยให้เข้ารับการวินิจฉัยกับบุคลากรทางการแพทย์ได้ง่ายขึ้น (74%) และปรับปรุงการดูแลรักษาให้ดีขึ้น (75%) ที่สำคัญคือ 86% ของผู้ป่วยจะรู้สึกสบายใจเกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยี AI หากได้รับข้อมูลโดยตรงจากแพทย์ของพวกเขา ซึ่งตอกย้ำให้เห็นว่าแพทย์คือแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือที่สุดสำหรับผู้ป่วย แม้แต่ในเรื่องเทคโนโลยี
นายแจสเปอร์ สรุปว่า “สิ่งสำคัญ คือ การสร้างความเชื่อมั่นในเทคโนโลยีที่ขับเคลื่อนด้วย AI ให้กับบุคลากรทางการแพทย์และผู้ป่วย ซึ่งจะช่วยให้มีการนำเทคโนโลยีไปใช้ในวงกว้างและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ความร่วมมือของทุกฝ่ายในวงการเฮลท์แคร์เป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยยกระดับความเชื่อมั่นและลดความกังวลในการใช้เทคโนโลยี AI และขับเคลื่อนการบูรณาการเทคโนโลยีเข้ากับระบบสาธารณสุขในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกอย่างรับผิดชอบและครอบคลุม”
การนำ AI มาใช้ในระบบสาธารณสุขของเอเชียแปซิฟิกไม่ใช่แค่ทางเลือก แต่เป็นความจำเป็นเร่งด่วนเพื่อแก้ไขปัญหาความล่าช้าในการรักษาพยาบาลและยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย Philips Future Health Index 2025 เป็นสัญญาณเตือนที่ชัดเจนว่าถึงเวลาแล้วที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันเพื่อสร้างความเชื่อมั่นและผลักดันการใช้ AI อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่ออนาคตที่สดใสของสาธารณสุขในภูมิภาคนี้