แพทย์เฉพาะทางด้านกระดูกสันหลังเตือน หากมีอาการปวดคอร่วมกับอาการปวดร้าวลงแขน อาจเป็นสัญญาณของโรคหมอนรองกระดูกคอทับเส้นประสาท แนะนำให้รีบพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยและรักษา หากปล่อยไว้นานอาจเสี่ยงต่อภาวะพิการถาวร
นพ.ฐปนัตว์ จันทราภาส แพทย์เฉพาะทางด้านกระดูกสันหลัง โรงพยาบาลเอส สไปน์ เปิดเผยว่า โรคหมอนรองกระดูกคอทับเส้นประสาทเกิดจากหมอนรองกระดูกคอเคลื่อนตัวออกจากตำแหน่งปกติและกดเบียดเส้นประสาท โดยปัจจัยเสี่ยงสำคัญ ได้แก่ การใช้งานคอหนัก เช่น การก้มเงยศีรษะแบบสุดขีด การโยกคอแรง ๆ หรือการก้มหน้าทำงานเป็นเวลานาน
อาการที่บ่งชี้ถึงภาวะดังกล่าว ได้แก่ ตึงบริเวณหลังคอ ปวดศีรษะท้ายทอย ปวดสะบักร้าวลงแขน ชาที่นิ้วมือ หรือปวดเหมือนไฟฟ้าช็อต หากอาการรุนแรงขึ้นอาจทำให้มืออ่อนแรงจนติดกระดุมไม่ได้ หากรับประทานยาเกิน 1 เดือนแล้วอาการไม่ดีขึ้น ควรรีบพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและหาแนวทางรักษา
สาเหตุของโรคหมอนรองกระดูกคอทับเส้นประสาทอาจเกิดจากอุบัติเหตุที่ส่งผลกระแทกรุนแรง การเดิน ยืน หรือ นั่งผิดท่า รวมถึงการเล่นกีฬาที่ผิดวิธี นอกจากนี้ การก้มเงยศีรษะหรือหันบิดคออย่างรวดเร็วรุนแรงก็เป็นปัจจัยที่เพิ่มแรงกดต่อหมอนรองกระดูก ทำให้เกิดอาการบาดเจ็บได้ง่าย
แนวทางการรักษามี 2 กลุ่มหลัก ได้แก่
- การรักษาแบบไม่ผ่าตัด
- หากอาการไม่รุนแรงมาก แพทย์จะแนะนำให้ปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต หากยังไม่ดีขึ้น อาจใช้ยาแก้ปวดร่วมกับกายภาพบำบัด ซึ่งสามารถช่วยให้อาการดีขึ้นภายในไม่กี่สัปดาห์
- การรักษาด้วยการผ่าตัด
- เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการปวดเรื้อรัง รักษาแล้วอาการไม่ดีขึ้น หรือมีอาการปวดร้าวลงแขน ชาหรืออ่อนแรง ซึ่งเป็นผลจากการกดทับเส้นประสาทหรือไขสันหลังส่วนคอ
- วิธีการผ่าตัดที่ทันสมัย เช่น Minimally Invasive Spine Surgery (MIS Spine) ซึ่งใช้เทคนิค PSCD (Percutaneous Stenoscopic Cervical Decompression) โดยการส่องกล้องเอ็นโดสโคปเข้าไปในช่องกระดูกคอเพื่อนำหมอนรองกระดูกที่กดทับเส้นประสาทออก และขยายโพรงเส้นประสาทเพื่อลดการกดทับ
อย่างไรก็ตาม เทคนิค PSCD ยังถือเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่ต้องใช้ความเชี่ยวชาญของแพทย์เฉพาะทาง และยังไม่แพร่หลายมากนัก โดยสามารถพบได้ในโรงพยาบาลเฉพาะทางที่เชี่ยวชาญด้านโรคกระดูกสันหลังเท่านั้น ดังนั้น หากมีอาการผิดปกติ ควรรีบปรึกษาแพทย์เฉพาะทางเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนและรักษาได้อย่างถูกต้อง