สศท.นำอัตลักษณ์ผ้าทอจากกลุ่มครูศิลป์ ครูช่าง และทายาทช่างศิลปหัตถกรรม มาประชันไอเดียสร้างสรรค์งานออกแบบเครื่องแต่งกายแฟชั่น

Share

สถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์กรมหาชน) หรือ สศท. เชิญชวนนักออกแบบผู้ที่สนใจ และกลุ่มนิสิต/นักศึกษา ร่วมประชันเวทีปลดปล่อยไอเดียสร้างสรรค์ผลงาน ในโครงการเยาวชนสร้างสรรค์ต่อ ยอดแฟชั่นหัตถศิลป์ไทย sacit Youth Crafts Camp (sacit Soft Power: A Crafted and Creative Experience)” ภายใต้แนวคิดการออกแบบ: sacit The Future of Crafts มุ่งขับเคลื่อนผ้าไทยสู่ Soft Power ด้านแฟชั่น เชื่อมโยงงานศิลปหัตถกรรมผ้าทอจากมรดกทางภูมิปัญญาของไทยจากกลุ่มครูศิลป์ของแผ่นดิน ครูช่างศิลปหัตถกรรม และทายาทช่างศิลปหัตถกรรม ให้เป็นที่รู้จัก และก้าวเข้าสู่อุตสาหกรรมแฟชั่นไทย


นางพรรณวิลาส แพพ่วง รักษาการแทนผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย หรือ สศท. เปิดเผยว่า เมื่อเทรนด์แฟชั่นจากทั่วทุกมุมโลกกำลังให้ความสนใจด้านสิ่งแวดล้อม จึงเป็นโอกาสที่ดีของ สศท. ในการเผยแพร่ทุนทางวัฒนธรรมที่มีความสัมพันธ์กับการอนุรักษณ์ภูมิปัญญาภายใต้การผลักดันด้านความยั่งยืนด้านหัตถกรรมไทยประเภทต่างๆ ซึ่งผ้าทอเป็น1 ใน 9 เครื่องในประเภทงานศิลปหัตถกรรมของ สศท. กล่าวคืองานประเภทเครื่องทอ ซึ่งในภูมิประเทศไทยมีศักยภาพด้านความสมบูรณ์ในพื้นที่สูงมาก ทั้งในเรื่องการหยิบใช้วัสดุพื้นถิ่นเข้ามาเป็นส่วนผสมของผ้าทอ อาทิ การทำสีย้อมจากวัสดุธรรมชาติ การผลิตเส้นด้ายตุ่นจากต้นฝ้ายพื้นเมือง การใช้ภูมิปัญญาดั้งเดิมในการรักษาสภาพเส้นด้ายให้คงทนจากการหมักผ้าด้วยโคลน และการคิดค้นเทคนิคการทอผ้าจากการใช้รากความคิดในสังคม-วัฒนธรรมของตนเอง สิ่งเหล่านี้ เป็นส่วนสำคัญที่จะผลักดันให้ผ้าทอที่มีลักษณพเฉพาะของกลุ่มครูศิลป์ของแผ่นดิน ครูช่างศิลปหัตถกรรม ทายาทช่างศิลปหัตถกรรมสู่อุตสาหกรรมแฟชั่นได้ ปัจจุบันกลุ่มอุตสาหกรรมแฟชั่นมุ่งเน้นไปที่การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และการสร้างความยั่งยืนให้แก่โลกในทุกมิติ ทอผ้าจากธรรมชาติในประเทศไทยมีการคิดค้นเทคนิคเฉพาะในแต่ละขั้นตอนก่อนจะทอออกมาเป็นผืนผ้าที่งดงามแสดงถึงความปราณีต ใส่ใจ ในทุกขั้นตอน

หาก สศท. จะผลักดันผ้าทอของครูศิลป์ของแผ่นดิน ครูช่างศิลปหัตถกรรม ทายาทช่างศิลปหัตถกรรมเข้าสู่อุตสาหกรรมแฟชั่นจากผ้าไทยให้ไปสู่เวทีระดับโลก รวมถึงการแสวงหาโอกาสในการแสดงศักยภาพสู่ระดับนานาชาติได้นั้น จุดสำคัญต้องมาจากแนวคิดการสร้างสรรค์ผลงาน ที่ต้องมีการเปิดรับแนวคิด ไอเดียผ่านมุมมองของนักออกแบบรุ่นใหม่ ที่เป็นบทบาทสำคัญในการช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับผ้าทอไทยที่สามารถสร้างสรรค์ไปสู่วงการแฟชั่น  ดังนั้น จึงเกิดเป็นแนวคิดในโครงการ sacit Youth Crafts Camp (sacit Soft Power : A Crafted and Creative Experience) ที่มุ่งสนับสนุนให้นักออกแบบรุ่นใหม่ นิสิต/นักศึกษา ได้เข้ามาพัฒนาผลงานเครื่องแต่งกายจากการนำผ้าไทยของสมาชิก สศท. ประเภทเครื่องทอ มาเป็นวัสดุหลักในการออกแบบเครื่องแต่งกายแฟชั่น การพัฒนาคิดค้นเทคนิคผิวผ้าและพื้นผิว (Surfaces & Texture) หรือรูปแบบเครื่องแต่งกายที่ทันสมัย ในแนวคิด “The Future of Crafts” เพื่อให้แฟชั่นที่มีจุดกำเนิดจากผ้าไทยสามารถเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคที่หลากหลาย และทุกเจเนอเรชั่น ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ สศท. ให้ความสำคัญ ผ่านการจัดกิจกรรมเวทีประกวดประชันไอเดีย การออกแบบเครื่องแต่งกายแฟชั่น เพื่อปั้นนักออกแบบหน้าใหม่ให้กับวงการแฟชั่นไทย อีกทั้งการร่วมสืบสาน สร้างสรรค์งานผ้าไทยจากสมาชิก สศท. ประเภทเครื่องทอ ให้เป็นเทรนด์แฟชั่นร่วมสมัยในอนาคตอย่างยั่งยืนต่อไปได้

ทั้งนี้ จึงขอเชิญชวนผู้ที่สนใจสมัครเข้าร่วมโครงการ sacit Youth Crafts Camp (SACIT Soft Power : A Crafted and Creative Experience) ภายใต้แนวคิด: sacit The Future of Crafts โดยเปิดรับสมัครแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ ประเภทบุคคลทั่วไป ซึ่งเป็นประชาชนทั่วไปที่มีความสามารถในการออกแบบและตัดเย็บ หรือควบคุมการตัดเย็บให้เป็นไปตาม sketch ได้อย่างเหมาะสม สวยงาม และสามารถสวมใส่ได้จริงในชีวิตประจำวัน และประเภท นิสิต/นักศึกษา ซึ่งเป็นผู้ที่กำลังศึกษาอยู่ในสถาบันการศึกษาในระดับปริญญาตรี หรือระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง หรือเทียบเท่า

นอกจากนี้ยังเปิดรับสมัคร กลุ่มสมาชิก สศท. ครูศิลป์ของแผ่นดิน ครูช่างศิลปหัตถกรรม ทายาทช่างศิลปหัตถกรรม ประเภทเครื่องทอเข้าร่วมโครงการเพื่อสนับสนุนผ้าทอ และถ่ายทอดทักษะความเชี่ยวชาญ องค์ความรู้ภูมิปัญญารวมถึงการผลิตผ้าผืน ประเภทผ้าทอแก่นักออกแบบที่เข้าร่วมการประกวดในโครงการ

ผู้สนใจสามารถดาวน์โหลดใบสมัคร และรายละเอียดได้ที่ https://www.sacit.or.th/th/detail/2024-06-15-20-24-09?event-project=1 โดยส่งใบสมัครและแบบร่างผลงานได้ตั้งแต่วันนี้ ถึง 30 มิถุนายน 2567 สอบถามเพิ่มเติมโทร. 093-619-9463 โดยให้นำเสนอรูปแบบ กระบวนการออกแบบ และตัดเย็บชุดผ้าไทยที่แสดงให้เห็นถึงการต่อยอดคุณค่าผ้าไทย มุ่งเน้นให้สวมใส่ได้จริงในชีวิตประจำวัน ตรงกับความต้องการของทุก Generation ด้วยการผสมผสานองค์ความรู้ และภูมิปัญญาผ้าทอให้สอดรับกับทักษะการออกแบบเครื่องแต่งกายแฟชั่นได้อย่างยั่งยืน

นอกจากนี้คณะกรรมการจะคัดเลือกผลงานจากแบบร่าง ประเภทละ 15 ผลงาน รวม 30 ผลงาน พร้อมทั้งสนับสนุนเงินทุน เพื่อตัดเย็บชุดจริงให้นางแบบได้นำเสนอบนรันเวย์ในการประกวดรอบชิงชนะเลิศเพื่อชิงเงินรางวัล มูลค่ารวมกว่า 400,000 บาท พร้อมโล่เกียรติยศ ซึ่งจะจัดขึ้นใน วันที่ 25 สิงหาคม 2567 ภายในงาน Craft Bangkok 2024 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค