ห้องสมุด ไม่ใช่แค่ชื่อเรียกอาคาร สถานที่ ที่ใช้เก็บหนังสือเท่านั้น แต่เป็นพื้นที่สาธารณะที่สำคัญสำหรับชุมชน ในการใช้แบ่งปัน พื้นที่ ข้อมูล และเชื่อมโยงคนเข้าหากัน เป็นที่ที่ใช้เรียนรู้ แสวงหาความรู้ เปิดโลกกว้าง ล่าสุดโครงการห้องสมุดแห่งเมืองสงขลา เป็นห้องสมุดล่าสุดที่เปิดตัวในประเทศไทย ในชื่อ ห้องสมุดยับ เอี่ยน ฉ่อย พื้นที่สำหรับคนที่รักการอ่าน คนรักหนังสือ นักเดินทาง ได้แวะไปเยี่ยมเยียนกัน ฐานะโครงสร้างพื้นฐานทางสังคมของคนสงขลา
อาจารย์มกุฎ อรฤดี ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ผู้ก่อตั้งสำนักพิมพ์ผีเสื้อ ในฐานะเลขานุการมูลนิธิวิชาหนังสือ เล่าให้ฟังถึงห้องสมุด ยับ เอี่ยน ฉ่อย ว่า แนวคิดของห้องสมุดยับ เอี่ยน ฉ่อย เกิดขึ้นเมื่อ 5 ปีที่แล้ว ตอนที่คุณเกล้ามาศ ยิบอินซอย เดินทางไปประเทศจีนที่บ้านบรรพบุรุษและเห็นว่ามีห้องสมุดเล็ก ๆ ด้วย จึงอยากทำห้องสมุดบ้าง ส่วนตัวอาจารย์ ทำมูลนิธิวิชาหนังสือ ที่สนับสนุนวิชาหนังสือและระบบหนังสือ รวมทั้งเรื่องการอ่านมานาน 10 ปี และเมื่อ 4 ปีที่แล้ว อาจารย์และคุณเกล้ามาศมีโอกาสได้เจอกัน และพูดคุยเรื่องห้องสมุด
“ผมกับคุณเกล้ามาศ เห็นตรงกันว่า อยากทำห้องสมุดเล็ก ๆ คุณเกล้ามาศ บอกผมว่า มีบ้านเก่าที่สงขลา ยินดีจะให้ใช้ทำห้องสมุด กว่าจะได้ทำห้องสมุด ผมเดินทางไปสงขลาหลายรอบ เพื่อใช้เวลาเตรียมการและศึกษา เนื่องจากบ้านเป็น อาคารโบราณ 100 กว่าปี จะชำรุด ทรุดโทรมมาก ด้านหลังติดทะเลสาบ ก็จะมีเหี้ยอยู่เยอะมาก นอกจากนี้ยังต้องศึกษาบริเวณรอบ ๆ เรียกว่า เดินทุกซอย มีนักท่องเที่ยวมาสงขลาจำนวนเท่าไหร่ และอีกหลายเรื่องจึงต้องใช้เวลาดำเนินการมา 3 ปี กว่าจะมาเป็นห้องสมุด”
อาจารย์มกุฎ เล่าต่อว่า พื้นที่ตรงนี้ (ห้องสมุดในปัจจุบัน)เดิมสมัยก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นโกดังข้าว โดยเมล็ดข้าวนำไปสีจากที่อื่นจากนั้นนำมาพักที่นี่ ฝ่ายสัมพันธมิตรอยากตัดเสบียงของญี่ปุ่น จึงพยายามทิ้งระเบิดให้โดนที่นี่ แต่ระเบิดตกพลาดเป้าหมายกลับไปตกด้านหน้า นี่จึงเป็นที่มาของชื่อ “ห้องสมุด ยับ เอี่ยน ฉ่อย ที่โกดังข้าว ถนนนครนอก สงขลา”
ห้องสมุดยับ เอี่ยน ฉ่อย แตกต่างจากที่อื่น เนื่องจากเป็นห้องสมุดสำหรับผู้ใหญ่ ไม่อนุญาตให้เด็กต่ำกว่า13 ปีเข้า ใช้เพียงลำพัง เพราะเกรงว่าจากความเก่าแก่ของอาคารอาจจะเกิดอุบัติเหตุได้ ดังนั้นหากเด็กจะเข้าใช้ห้องสมุดจำเป็นต้องมีผู้ปกครองมาด้วย และจากความเล็ก แคบ ของห้องสมุด จึงไม่สามารถเอาหนังสือจำนวนมากเข้ามาได้ จึงมีความคิดในการให้ผู้อ่านเขียนว่า อยากอ่านหนังสืออะไร ที่สมุดโต๊ะรับแขก ซึ่งปัจจุบันหนังสือส่วนใหญ่จะเป็น สารคดี หนังสือของราชบัณฑิต ประวัติศาสตร์ ความรู้ ท่องเที่ยว หนังสือหายากประเภทที่ผลิตขึ้นมาแต่ไม่ได้มีจำหน่าย หนังสือที่จำเป็นและสำคัญ สำหรับคนสงขลา รวมทั้งนักท่องเที่ยว หนังสือที่เกี่ยวข้องกับเมืองสงขลามากที่สุด
“ห้องสมุดนี้มีวิธีคิดที่ไม่เหมือนกับห้องสมุดอื่น คือ เราจะไม่ขายหนังสือแข่งกับร้านหนังสือท้องถิ่น คือไม่ให้กระทบร้านหนังสือที่มีอยู่ ในทางกลับกันเราจะช่วยกู้สถานการณ์ร้านหนังสือ ด้วยการมีกิจกรรมร่วมกัน เช่น หากมีนักเขียนมาแนะนำหนังสือที่ห้องสมุด ห้องสมุดจะไม่ขายหนังสือ แต่ใช้วิธีให้ไปซื้อหนังสือที่ร้านหนังสือล่วงหน้า เมื่อถึงเวลาที่นักเขียนมาที่ห้องสมุดจึงเอาหนังสือมาให้เซ็น นอกจากนั้นห้องสมุดจะไม่เปิดร้านกาแฟ ทั้งที่มีผู้อ่านหลายท่านแนะนำให้เปิดร้านกาแฟด้วย แต่เท่าที่เดินสำรวจในเมืองสงขลาพบว่า มีร้านกาแฟ จำนวนมาก เป็นร้อยร้าน เราไม่แข่งขันกับร้านกาแฟ เพราะเราไม่มีอาชีพเป็นบาลิสต้า”
การสร้างห้องสมุดเป็นเรื่องที่ยากแล้ว การจูงใจคนให้เข้ามาใช้บริการห้องสมุดกลับเป็นเรื่องที่ยากกว่า อาจารย์มกุฎ เล่าถึงกับดักที่วางไว้สำหรับคนที่จะมาเยี่ยมเยียนห้องสมุด ยับ เอี่ยน ฉ่อย ว่า เมืองสงขลา เป็นเมืองท่องเที่ยว การให้นักท่องเที่ยวมาห้องสมุด ยับ เอี่ยน ฉ่อย เป็นจุดเช็คอิน และถ่ายภาพ เป็นเพียงกับดักให้คนเข้ามาลองสัมผัสห้องสมุดก่อน ทั้งที่ความเป็นจริงไม่ได้คาดหวังเพียงแค่นั้น แต่มันเป็นไปไม่ได้ที่นักท่องเที่ยวจะนั่งอ่านหนังสือในครั้งแรกที่มาห้องสมุด แต่หวังอนาคตต้องทำให้คนคนนั้นกลับมาในครั้งต่อไป จนคนนั้นเข้ามาห้องสมุดเพื่อนั่งอ่านหนังสือ
“ห้องสมุดสามารถจุคนได้ประมาณ 100 คน มีหลายโซน ทั้งมุมคนที่นั่งสงบ มีบริเวณติดน้ำ มีเก้าอี้ริมระเบียง 40 -50 ที่นั่ง ยินดีต้องรับทั้งคนท้องถิ่นและนักท่องเที่ยว ซึ่งทุกคนสามารถจองเป็นอาสาสมัครห้องสมุดได้ เช่น นักท่องเที่ยวมาเที่ยวสงขลาแล้วอยากมาเป็นอาสาสมัครของห้องสมุดสัก 1-2 ชั่วโมง ก็สามรถจองได้ ทางห้องสมุดก็ยินดี เสร็จงานแล้ว จะมีประกาศนียบัตรให้ว่ามาช่วยงานห้องสมุดด้วย”
กับดักที่ 2 คือ เสาหนังสือ ตั้งแต่พื้นจรดเพดาน จำนวนประมาณ 1000 เล่ม ได้มาจากการบริจาคของ คุณงามพรรณ เวชชาชีวะ และคุณคุณพิมลพร ยุติศรี เสาหนังสือเป็นกุลโลบายที่ใช้มานาน เพื่อให้ได้เห็นหนังสือ ดูสันหนังสือ จับหนังสือ มาเรียงทีละเล่ม ดูความกว้าง ยาว พิจารณาดูการออกแบบ เล่มไหนสวยอย่างไร
“แม้จะเรียงเป็นเสาหนังสือ แต่สามารถหยิบหนังสือออกมาได้นะ พียงเอาหนังสือที่มีความหนาเท่ากัน 2 เล่ม มาวางประกบข้างแล้วดึงเล่มกลางที่อยากได้ออกมา เอาเล่มใหม่สอดเข้าไปแทน หากเสาหนังสือเป็นปกแข็งทั้งหมดสามารถปีนขึ้นไปได้ด้วย”
ขณะนี้ห้องสมุดเปิดบริการเพียง 4 วัน คือ วันพฤหัสบดี – วันอาทิตย์ เวลา 9.00 น. – 17.00 น. เนื่องจากในขณะนี้มีเจ้าหน้าที่อยู่น้อย ในอนาคตมีแผนจะเปิดมากขึ้นกว่า 4 วัน ปัจจุบันเปิดให้อ่านหนังสือได้เท่านั้น ยังไม่สามารถยืมกลับบ้านได้ แต่คาดว่าในเดือนธันวาคมที่จะถึงนี้ จะเปิดให้ยืมหนังสือกลับบ้านได้ เพียงแต่ผู้ที่จะยืมหนังสือกลับบ้านต้องลงทะเบียนเป็นสมาชิกห้องสมุด ไม่เสียค่าสมาชิก ไม่มีค่าธรรมเนียม
คาดว่าในอนาคตอาจจะมีห้องสมุดประจำเมืองเช่นนี้กระจายอยู่ในทุกจังหวัด สำหรับคนที่พิสมัยความรู้ แต่ตอนนี้ต้องบอกว่า ……อิจฉาคนสงขลามาก