ในยุคที่อาชญากรรมไม่ได้จำกัดอยู่แค่บนท้องถนน แต่เคลื่อนย้ายเข้าสู่โลกออนไลน์อย่างรวดเร็ว พ.ต.ต.พากฤต กฤตยพงษ์ หรือ “สารวัตรเติร์ก” นายตำรวจไซเบอร์จาก กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) ผู้ที่เคยเป็น “อดีตเด็กติดเกม” ได้ออกมาให้มุมมองและข้อแนะนำสำคัญในการสร้างการรู้เท่าทัน เพื่อรับมือกับภัยไซเบอร์ที่อยู่ใกล้ตัวมากกว่าที่คิด พร้อมเน้นย้ำถึงบทบาทของ True CyberSafe ในการเป็นเครื่องมือช่วยปิดโอกาสอาชญากรรมออนไลน์
ข้อมูลจากศูนย์รับเรื่อง ThaiPoliceOnline ชี้ให้เห็นถึงความรุนแรงของสถานการณ์อาชญากรรมออนไลน์ โดยในช่วง มี.ค. 65 – พ.ค. 68 มีผู้แจ้งความกว่า 900,000 เรื่อง คิดเป็นมูลค่าความเสียหายสะสมสูงถึง 9 หมื่นกว่าล้านบาท หรือเฉลี่ย 77 ล้านบาทต่อวัน สะท้อนว่าภัยไซเบอร์ได้กลายเป็นอาชญากรรมใกล้ตัวที่ทุกคนสามารถตกเป็นเหยื่อได้
อาชญากรรมเคลื่อนย้าย สู่โลกที่ซับซ้อนกว่าเดิม
สารวัตรเติร์กอธิบายถึงการเปลี่ยนผ่านของอาชญากรรมจาก “ลัก วิ่ง ชิง ปล้น” แบบดั้งเดิมที่ต้องเผชิญหน้าเหยื่อ สู่โลกออนไลน์ที่ซับซ้อนกว่า “อาชญากรรมในเวลานี้ไม่ได้อยู่จำกัดอยู่แค่บนท้องถนนอีกต่อไป แต่ย้ายเข้าสู่โทรศัพท์มือถือที่อยู่ในมือของทุกคน” เขากล่าว อาชญากรไซเบอร์สามารถซ่อนตัวจากทุกมุมโลก หลอกลวงเหยื่อด้วยกลวิธีที่แนบเนียน รวดเร็ว และสร้างความเสียหายได้มากกว่าอาชญากรรมรูปแบบเก่าหลายเท่าตัว บางรายไม่เพียงแค่เสียเงินเก็บ แต่ยังถูกหลอกให้กู้เงินมาโอนอีกด้วย ซึ่งทั้งหมดนี้อาศัย “จิตวิทยา” มากกว่าการใช้กำลัง
สิ่งที่น่าสนใจคือ กลโกงของมิจฉาชีพไม่ได้อิงแค่เทคโนโลยีเท่านั้น แต่ยังออกแบบตาม “วัฒนธรรม” ของแต่ละพื้นที่ สารวัตรเติร์กยกตัวอย่างว่าในยุโรปมักพบ Romance Scam (หลอกลวงเชิงความสัมพันธ์) ส่วนในเอเชีย โดยเฉพาะประเทศไทย มักตกเป็นเป้าของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่แอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ “ความเชื่อที่ปลูกฝังกันมาในสังคมไทย ไม่ว่าจะเป็นความเชื่อถือในเจ้าหน้าที่รัฐ หรือแม้แต่ความกลัวเกรงอำนาจของเจ้าหน้าที่ ก็เป็นองค์ประกอบที่ทำให้ผู้คนมีแนวโน้มที่จะเชื่อและทำตามเมื่อมีคนมาอ้างตัวเป็นเจ้าหน้าที่” เขากล่าว
“ปิดโอกาส” อาชญากรรมด้วย True CyberSafe
ตามทฤษฎีสามเหลี่ยมอาชญากรรม (Crime Triangle) ที่ประกอบด้วย อาชญากร โอกาส และเหยื่อ สารวัตรเติร์กชี้ว่าแม้ตำรวจไซเบอร์จะทำหน้าที่ “สายตรวจไซเบอร์” เฝ้าระวังภัยออนไลน์ แต่การทำงานเพียงฝ่ายเดียวไม่เพียงพอ ภาคเอกชนจึงเข้ามาเสริมกำลังในด้านเทคโนโลยีดิจิทัล เช่น บริการ True CyberSafe ซึ่งเป็นบริการฟรีสำหรับลูกค้าทรูและดีแทค ทำหน้าที่บล็อกหรือแจ้งเตือนเมื่อผู้ใช้เผลอกดลิงก์อันตรายจากมิจฉาชีพที่ส่งผ่าน SMS หรือ Web Browser
“แน่นอนว่า มิจฉาชีพต้องพยายามหาช่องทางต่างๆ แต่การที่มีบริการ True CyberSafe ถือว่าช่วยปิดช่องโหว่ เพื่อไม่ให้ผู้คนกับอาชญากรเชื่อมต่อกันได้ในเบื้องต้น” สารวัตรเติร์กกล่าวเน้นย้ำถึงบทบาทสำคัญของเครื่องมือนี้ในการ “ปิดโอกาส” ไม่ให้อาชญากรรมไซเบอร์เกิดขึ้นตั้งแต่ต้น
“รู้เท่าทัน” คือเกราะที่ดีที่สุดในยุค AI
เมื่อถูกถามถึงภัยไซเบอร์ที่ต้องเฝ้าระวังในอนาคต สารวัตรเติร์กชี้ว่า “ปัญญาประดิษฐ์” หรือ AI กำลังจะกลายเป็นเครื่องมือหลักของมิจฉาชีพ “มิจฉาชีพเริ่มใช้ AI หรือ Deep Fake ที่เป็นการสร้างใบหน้าปลอมของคนรู้จักหรือคนใกล้ชิดมาหลอกลวง รวมไปถึงการใช้เทคโนโลยี Voice Cloning เลียนเสียงให้เหมือน เพื่อสร้างความเชื่อถือให้เหยื่อหลงเชื่อ”
อย่างไรก็ตาม สารวัตรเติร์กย้ำว่าเทคโนโลยีเป็นเพียงเครื่องมือที่มิจฉาชีพใช้ “เล่นกับจิตใจคน” ดังนั้น การป้องกันที่ได้ผลที่สุดจึงไม่ใช่เพียงเทคโนโลยีตอบโต้ แต่คือ “การรู้เท่าทัน” ซึ่งต้องเริ่มจากการสื่อสารและให้ความรู้แก่ประชาชน โดยเฉพาะจากเจ้าหน้าที่ตำรวจที่มีบทบาทโดยตรง “มิจฉาชีพเปลี่ยนแปลงวิธีการตลอดเวลา ดังนั้นการสื่อสารให้ความรู้กับประชาชนเพื่อให้เกิดความตระหนักรู้ โดยมีตำรวจเป็นกระบอกเสียง หรือแม้แต่การที่ใช้อินฟลูเอนเซอร์ช่วย เป็นการส่งแรงกระเพื่อมให้กับประชาชนในวงกว้างได้รับทราบข้อมูล”
“กลัว โลภ หลง” จุดอ่อนที่ต้องระวัง
แม้กลโกงจะหลากหลาย แต่สารวัตรเติร์กยืนยันว่าอาชญากรไซเบอร์ยังคงใช้ 3 สิ่งที่เล่นกับจิตใจคนและได้ผลเสมอ ได้แก่:
- ความกลัว: สร้างสถานการณ์ฉุกเฉิน หลอกให้ตกใจและทำตามโดยไม่ทันคิด
- ความโลภ: หลอกว่าจะได้รับผลตอบแทนจำนวนมากอย่างง่ายดาย เช่น หลอกลงทุน
- ความหลง: สร้างตัวละครหรือสถานการณ์ที่น่าเชื่อถือ ทำให้คล้อยตาม เช่น ทำตัวเป็นคนรู้จักหรือผู้เชี่ยวชาญ
“กลลวงอาจจะเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ พรุ่งนี้อาจจะมีกลลวงใหม่ขึ้นมา แต่สามสิ่งนี้เป็นจุดร่วมที่มิจฉาชีพใช้เสมอ เราจึงต้องมีความสงสัยให้มาก ตั้งคำถามกับทุกสิ่งโดยเฉพาะในโลกออนไลน์” สารวัตรเติร์กกล่าวทิ้งท้าย พร้อมเชิญชวนให้ประชาชนร่วมเป็นอาสาสมัครในโครงการ “Cyber Eye” เพื่อแจ้งเบาะแสเพจปลอม เว็บไซต์หลอกลวง และภัยออนไลน์อื่น ๆ ได้ที่ www.thaipoliceonline.go.th และย้ำเตือนใจทุกคนว่า “รีบโอน = โจรยิ้ม” เพื่อเป็นเครื่องเตือนใจให้คิดก่อนตัดสินใจทำธุรกรรมใด ๆ ในโลกออนไลน์