สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) จัดงานเสวนา “นิยามใหม่ของสังคม: พลิกโฉมประเทศไทยด้วยเศรษฐกิจแพลตฟอร์ม” โดยมีผู้เชี่ยวชาญจากภาควิชาการ ภาครัฐ และภาคเอกชนเข้าร่วม นำเสนอผลงานวิจัยและแลกเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับบทบาทของเศรษฐกิจแพลตฟอร์มในประเทศไทย รวมถึงโอกาสและความท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล โดยเน้นการศึกษาผลกระทบของแพลตฟอร์มดิจิทัลที่มีต่อเศรษฐกิจมหภาค ตลอดจนแนวทางการกำกับดูแลที่สมดุลระหว่างการคุ้มครองผู้บริโภคและการส่งเสริมนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน
ดร.นณริฎ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโสจากทีดีอาร์ไอ เปิดเผยว่า จากการศึกษาพบว่าแอปพลิเคชัน Grab ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ให้บริการหลากหลาย ทั้งการเดินทาง สั่งอาหาร และขนส่ง มีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจไทย โดยสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 1.79 แสนล้านบาทต่อปี หรือคิดเป็น 1% ของ GDP ประเทศไทย นอกจากนี้ยังช่วยสร้างงานกว่า 280,000 ตำแหน่ง และเพิ่มรายได้ครัวเรือนราว 2.4 หมื่นล้านบาท ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าแพลตฟอร์มดิจิทัลมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจทั้งทางตรงและทางอ้อม
รศ.ดร.ดนุวัศ สาคริก จากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) กล่าวว่า เทคโนโลยีและปัญญาประดิษฐ์ (AI) รวมถึงแพลตฟอร์มดิจิทัล มีบทบาทในการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำงานในอนาคต โดยเฉพาะกลุ่มแรงงานอิสระ (Gig Worker) ที่เติบโตอย่างรวดเร็วในกลุ่มคนรุ่นใหม่ เช่น Gen Y และ Gen Z เนื่องจากตอบโจทย์เรื่องความยืดหยุ่นและความเป็นอิสระ ตลอดจนการแสวงหารายได้เพิ่มเติมในสภาวะเศรษฐกิจที่ไม่แน่นอน อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวส่งผลโดยตรงต่อเศรษฐกิจมหภาค และถือเป็นความท้าทายที่ภาครัฐต้องเตรียมความพร้อมในการกำหนดนโยบายที่สอดคล้องกับแนวโน้มดังกล่าว
จากการศึกษาของนิด้าพบว่า ระบบเศรษฐกิจแบบกิ๊ก (Gig Economy) ประกอบด้วย 4 องค์ประกอบหลัก ได้แก่ แพลตฟอร์ม (Platform) ผู้ใช้บริการ (People) พันธมิตร (Partner) และหน่วยงานภาครัฐ (Public Sector) ซึ่งควรได้รับการส่งเสริมเพื่อสร้างสมดุลและความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจในระยะยาว โดยเฉพาะการพัฒนานโยบายที่สนับสนุนการแข่งขันทางการตลาดควบคู่กับการคุ้มครองแรงงานอิสระให้สามารถเข้าถึงหลักประกันทางสังคมอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม
นายศุภโชค จันทรประทิน จากสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) กล่าวเสริมว่า การกำกับดูแลแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ดีต้องรักษาสมดุลระหว่างการคุ้มครองสิทธิของผู้ใช้บริการและการส่งเสริมนวัตกรรม โดยหน่วยงานภาครัฐควรกำหนดกฎเกณฑ์ที่โปร่งใสและเป็นธรรม เพื่อเอื้อต่อการเติบโตของธุรกิจแพลตฟอร์มทั้งรายใหญ่และสตาร์ทอัพไทยที่ต้องการขยายตลาดไปสู่ระดับสากล โดยเป้าหมายสำคัญของการกำกับดูแลไม่ใช่เพียงการควบคุม แต่ต้องเป็นการสร้างระบบนิเวศที่ทุกฝ่ายสามารถเติบโตไปพร้อมกันอย่างยั่งยืน